เลขาธิการ กช. เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงแนวทางแผนการจัดการเรียนการสอนโปรแกรมห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์บูรณาการวิชาอิสลามศึกษา (ป. 1 – ม. 6) ภายหลังการดำเนินโครงการส่งเสริมห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์บูรณาการวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงแนวทางแผนการจัดการเรียนการสอนโปรแกรมห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์บูรณาการวิชาอิสลามศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมี นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (ศธภ.7) ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอ นายกิตติ สันสอาด ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนนโยบายพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และคณะ พร้อมด้วยคณะครู เข้าร่วมการประชุมฯ และให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมสำนักงานศึกษาธิการภาค 7 อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
นายพีรศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงแนวทางแผนการจัดการเรียนการสอนโปรแกรมห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์บูรณาการวิชาอิสลามศึกษา ระดับชั้น ป.1- ม.6 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบบูรณาการ 70/30 (ห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์บูรณาการวิชาอิสลามศึกษา) และเพื่อพัฒนาครูผู้สอนให้มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน ตนเห็นว่าการจัดการเรียนกาสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาภาษาไทยนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และเป็นกระบวนการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับปัญหาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นจากปัจจัยที่หลากหลายและพบว่าปัญหาหลักคือเวลาเรียนที่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนของนักเรียน เนื่องจากการเรียนหลักสูตรอิสลามศึกษานั้นจะมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอิสลาม ร้อยละ 50 ควบคู่กับวิชาสามัญ ร้อยละ 50 ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถเรียนได้ครบหลักสูตร รวมถึงการสอนของคุณครูที่ไม่ทันและมีวิชาเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้การเรียนในวิชาสามัญมีเนื้อหาไม่ครบถ้วนทุกบทเรียนในแต่ละระดับชั้น นั้นจึงเป็นสิ่งที่ สช. จำเป็นต้องมีการปรับกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนในวิชาสามัญมากยิ่งขึ้นเป็นร้อยละ 70 และบูรณาการวิชาอิสลามศึกษาจากเดิม 8 สาระวิชา ลดลงเหลือ 4 สาระวิชา หรือคิดเป็นร้อยละ 30 รวมไปถึงยังมีการจัดทำโครงสร้างเวลาเรียน แผนการเรียน หน่วยการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ ตัวซี้วัด และวัดผลประเมินผล ฯลฯ ในระดับชั้น ป. 1 – ม. 6 เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป นายพีรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายกิตติ กล่าวว่า ในการดำเนินการโครงการส่งเสริมห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์บูรณาการวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนเอกชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ซึ่งการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯ ในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ 1 โดยก่อนหน้านี้ทาง สช. และได้มีการจัดการอบรมครูที่สอนในวิชาสามัญ (วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์) ในรูปแบบออนไลน์เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 8 – 12 พ.ค. ที่ผ่านมา จึงได้มีการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤษภาคม 2565 ประกอบด้วยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ และยังดำเนินการในปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 47 โรง
ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จำนวน 21 โรง จังหวัด จังหวัดยะลา จำนวน 10 โรง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 9 โรง จังหวัดสงขลา จำนวน 4 โรง และจังหวัดสตูล จำนวน 3 โรง โดยครูผู้สอนในวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ รวมถึงครูที่รับผิดชอบโครงการฯ เข้าร่วมการประชุมฯ จำนวน 94 คน เจ้าหน้าที่จาก สช. และ สช. จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล และผู้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการฯ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 115 คน
พร้อมทั้งวิทยากรกิตติศักดิ์ที่ได้มาให้ความรู้และขับเคลื่อนโครงการในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯ ได้แก่ นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการ กช. นางนงลักษณ์ หะยีมะสาและ ข้าราชการบำนาญ (ศึกษานิเทศชำนาญการพิเศษ) นายมูหามัดรูยานี บากา ผู้ชำนาญการอิสลามศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 และนายสรชา จาราแว ข้าราชการบำนาญ
ขวัญข้าว แสนบ่อ : ภาพ/ข่าว
กรรณิกา พันธ์คลอง : เรียบรียง
ประชาสัมพันธ์ สช.