ตั้งแต่ปี 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP)
กรมปศุสัตว์เล็งเห็นถึงความสำคัญของโมเดลดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ. 2565 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเชิดชู และสร้างต้นแบบฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ที่สามารถประยุกต์หลักการ BCG model มาใช้จริงให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยการทำปศุสัตว์อินทรีย์นั้น มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้สารจากธรรมชาติ เช่น สมุนไพรไทย เพื่อลดการนำเข้าปัจจัยการผลิตสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมีและยาสัตว์ เลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากสารพิษตกค้าง อีกทั้งยังสอดรับตาม BCG model ได้อย่างลงตัว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ. 2565 มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL และเป็นการเชิดชูฟาร์มที่ได้นำหลักการ BCG model มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้ฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL เป็นฟาร์มอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์จากกรมปศุสัตว์ และต้องปฏิบัติตามหลักการ 3 ข้อ ได้แก่
(1) หลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy: B) ฟาร์มมีการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐานสอดคล้องตามหลักการปศุสัตว์อินทรีย์ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร
(2) หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular-Economy; C) มีการนำทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืน พึ่งตนเองได้มาก หมุนเวียนปัจจัยการผลิตได้ดี และใช้หลัก zero-waste ในฟาร์ม
(3) หลักเศรษฐกิจสีเขียว (Green-Economy; G) เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว การประหยัดพลังงาน ลดการปลดปล่อยของเสียจากฟาร์ม รวมทั้งเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
โครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ.2565 กรมปศุสัตว์จัดประกวดฟาร์มอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์กับกรมปศุสัตว์ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทฟาร์มโคนมอินทรีย์ ประเภทฟาร์มไข่ไก่อินทรีย์ และประเภทแปลงพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ คณะกรรมการจะพิจารณาฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยพิจารณาจากการนำเสนอของผู้ประกอบการแต่ละประเภท ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy: B) หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular-Economy; C) และหลักเศรษฐกิจสีเขียว (Green-Economy; G) ด้วย
ในปีถัดไป กรมปศุสัตว์ยังไม่ได้จัดประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL แต่เบื้องต้นเกษตรกรที่สนใจสามารถประยุกต์ใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1: การผลิต แปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่าย ผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ เล่ม 2 : ปศุสัตว์อินทรีย์ และเกษตรอินทรีย์ เล่ม 6: ผึ้งอินทรีย์ ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มาปฏิบัติในฟาร์มของตนเองได้ จากนั้นก็ยื่นขอการรับรองปศุสัตว์อินทรีย์ จากกรมปศุสัตว์ได้ โดยกรมปศุสัตว์ ให้การรับรองทั้งหมด 7 ขอบข่าย ดังนี้
ระบบการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์
ระบบการผลิตผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์อินทรีย์
ระบบการผลิตผึ้งอินทรีย์
ระบบการผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้งอินทรีย์
ระบบการผลิตพืชอาหารสัตว์อินทรีย์
ระบบการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปอินทรีย์
ระบบการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์อินทรีย์
ทั้งนี้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจศึกษางานในฟาร์มต้นแบบที่ได้รับรางวัลหรือต้องการรับทราบข้อมูลการรับรองปศุสัตว์อินทรีย์ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดท้องที่ และสำนักงานปศุสัตว์เขตได้ทุกแห่ง