เสมาโพล เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ของกระทรวงศึกษาธิการ

นายวีระ แข็งกสิการ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เสมาโพล กระทรวงศึกษาธิการ ได้สำรวจระหว่างวันที่ 5-8 พ.ค. 65 จำนวนทั้งสิ้น 17,308 หน่วยตัวอย่าง พบว่าประชาชนร้อยละ 47 มีความเชื่อมั่นต่อการเปิดภาคเรียนของ ศธ. ด้วยรูปแบบ On-site, ร้อยละ 36 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 16 ไม่เชื่อมั่น

ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้เด็กไปเรียนแบบ On-site ที่โรงเรียนตามปกติ แต่ยังกังวลเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ในโรงเรียน โดยมาตรการหลักที่จะช่วยได้คือ การสวมหน้ากากอนามัย และการฉีดวัคซีนทุกคนในโรงเรียนให้ครอบคลุม

สรุปผลการสำรวจ

“ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเปิดภาคเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมไทยในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะมิติด้านการจัดการศึกษาของประเทศ แต่เพื่อมิให้การเรียนรู้ของเด็กไทยต้องหยุดชะงัก กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ปรับเปลี่ยนมาตรการการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องของเด็กไทย โดยให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ด้วยรูปแบบ On-site หรือจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนโดยการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการศึกษา รวมทั้งเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “เสมาโพล”จึงได้ดำเนินการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 17,308 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2565 ซึ่งสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้

1.ความเชื่อมั่นต่อการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2565 ของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยรูปแบบ On-site : ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.50 ระบุว่ามีความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 36.28 ระบุว่าไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 16.22 ระบุว่าไม่เชื่อมั่น

2.ความคิดเห็นต่อทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนของนักเรียนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน : ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.13 เห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันควรปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนรูปแบบOn-site ที่โรงเรียนตามปกติ รองลงมา ร้อยละ 31.16 ระบุว่าควรจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Online สลับวันกับ On-site ที่โรงเรียน และร้อยละ 14.71 ระบุว่าควรเรียนรูปแบบ Online

3.ข้อกังวลเกี่ยวกับการเปิดภาคเรียนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน : ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.60 ระบุว่าประเด็นที่เป็นข้อกังวลเกี่ยวกับการเปิดภาคเรียนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันคือ กังวลเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ในโรงเรียน รองลงมา ร้อยละ 8.20 ระบุว่ากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ให้แก่บุตรหลาน ร้อยละ 7.90 ระบุว่ากังวลเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ในระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน ส่วนประชาชนร้อยละ 18.30 ระบุว่า ไม่มีข้อกังวลใด ๆ

4.มาตรการที่จะสร้างความมั่นใจต่อการเปิดภาคเรียนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน: ประชาชน
ส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.32 ระบุว่ามาตรการที่จะสร้างความมั่นใจมากที่สุดสำหรับการเปิดภาคเรียนในรูปแบบ On-site ในโรงเรียน คือ มาตรการสวมหน้ากากอนามัย รองลงมา ร้อยละ 19.94 ระบุว่ามาตรการฉีดวัคซีนครู อาจารย์ และนักเรียนให้ครอบคลุม ร้อยละ 16.63 ระบุว่ามาตรการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค ร้อยละ 13.61 ระบุว่ามาตรการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 และร้อยละ 11.27 ระบุว่า มาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ส่วนร้อยละ 15.23 ระบุว่าไม่มีมาตรการใดที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้

5.ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2565 ของกระทรวงศึกษาธิการ

ประชาชนมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2565 ของกระทรวงศึกษาธิการ ใน 3 อันดับแรก ได้แก่

1) เห็นด้วย โดยโรงเรียนต้องเน้นย้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด อาทิ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก 100%  ล้างมือ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK เมื่อมีอาการหรือเสี่ยง และหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกัน

2) เห็นด้วย เพราะการเปิดเรียนรูปแบบ on site จะทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ตามพัฒนาการของวัย และกลับมามีสังคมกับเพื่อนๆ

3) ไม่เห็นด้วย เนื่องจากในปัจจุบันยังคงมียอดผู้ติดเชื้อสูง ทำให้นักเรียนมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงควรจัดการเรียนการสอนแบบอื่นจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น ตามลำดับ

 

 

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 78.36 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 21.64 เป็นเพศชาย

ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 31.59 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 30 – 39 ปี รองลงมาคือ ร้อยละ 28.22 เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี  ร้อยละ 27.09 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 40 – 49 ปี ร้อยละ 10.33 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 50 – 59 ปี และร้อยละ 2.77 เป็นผู้มีอายุ60 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ

ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 57.72 จบการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี รองลงมาคือ ร้อยละ 30.46   จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 11.82 จบการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี ตามลำดับ

ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.83 เป็นผู้ปกครองที่มีบุตรหลานวัยเรียน รองลงมาคือ ร้อยละ 17.23 เป็นนักเรียน นักศึกษา และร้อยละ 11.94 เป็นประชาชนทั่วไป ตามลำดับ