รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2565 ลงวันที่ 29 เมษายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคตะวันออก จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด และภาคใต้ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทาน เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ แนวคันกั้นน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2565 พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้เคลื่อนลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ในวันนี้ (1 พ.ค. 65) ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ สำหรับอ่าวไทยและภาคใต้มีลมตะวันตกพัดปกคลุม ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น

4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
4.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 46,778 ล้าน ลบ.ม. (57%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 40,983 ล้าน ลบ.ม. (57%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,337 ล้าน ลบ.ม. (61%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,458 ล้าน ลบ.ม. (48%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,236 ล้าน ลบ.ม. (41%) โดยเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

5. สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤตถึงปกติ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น