“ดนุช” นำทีม อว. เยี่ยมชมหลักสูตรบัณฑิต​พันธุ์​ใหม่​ มรภ.มหาสารคาม ชี้การสร้างประสบการณ์​และทักษะ​ผ่านวิชาศึกษา​ทั่วไป (General Education)

“ดนุช” นำทีม อว. เยี่ยมชมหลักสูตรบัณฑิต​พันธุ์​ใหม่​ มรภ.มหาสารคาม ชี้การสร้างประสบการณ์​และทักษะ​ผ่านวิชาศึกษา​ทั่วไป (General Education) ช่วยต่อยอดนักศึกษา​เป็นกำลังสำคัญพัฒนาชาติได้

(29 เมษายน 2565) ที่ ชุมชนบ้านลาด อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม​ -​ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี​ประจำ​กระทรวง​การอุดมศึกษา​ วิทยาศาสตร์​ วิ​จัยและ​นวัตกรรม​ (อว.)​ พร้อมด้วย ศ.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการ​โครงการผลิตบัณฑิต​พันธุ์​ใหม่​ อว. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการ​ผลิตบัณฑิต​พันธุ์​ใหม่​ของมหาวิทยาลั​ยราชภัฏ​มหาสารคาม ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General​ Education​: GE)​ ซึ่งมหาวิทยาลัย​นำร่องปีแรกในการนำหลักสูตร​เข้าบูรณาการ​กับรายวิชาร่วมกับชุมชน ช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ทักษะวิชารอบด้าน ที่สร้างประสบการณ์​ ทักษะความรู้ด้านต่างๆ ที่จำเป็นและสำคัญต่อตลาดแรงงาน ชุมชน และต่อยอดใช้ในอนาคตได้ พร้อมชี้หมวดการศึกษาทั่วไป ช่วยสร้างให้นักศึกษา​คนรุ่นใหม่เกิดความสุขในการทำงาน ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า เกิดการใช้เทคโนโลยีในเชิงสร้างสรรค์

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. กล่าวว่า บัณฑิต​พันธุ์​ใหม่​เป็นโครงการที่ อว. สร้างนักศึกษา​คนรุ่นใหม่​และกำลังคนที่มีสมรรถนะ​เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย โดยการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย​ราชภัฏ​มหาสารคาม​ที่มีการดำเนินการหลักสูตร​บัณฑิต​พันธุ์​ใหม่​ หมวดวิชา​ศึกษา​ทั่วไปนั้น ต้องขอชื่นชมในการดำเนินการ และทำให้ตนมองเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการผลิตบัณฑิต​พันธุ์​ใหม่ที่มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ได้มีส่วนช่วยในการสร้างคุณภาพของบัณฑิต​ในทุกมิติ

โดยเฉพาะในเรื่องศาสตร์​และศิลป์​ในการสร้างความสุขในการเรียนรู้ตามรายวิชาของนักศึกษา ที่ควรสร้างความสุขและเกิดความสนุกสนานในการเรียน ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์​ต่อตนเองและชุมชน เกิดการสร้างคุณค่า​ในตนเอง และลดอาการเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้ด้วย รวมถึงควรส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิง​สร้างสรรค์​ สร้างมูลค่าเพิ่ม​ให้กับตนเองและชุมชนผ่านเทคโนโลยี​สื่อสังคมออนไลน์​ได้ แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการบันเทิงและลดทอนคุณค่า​ตัวเองผ่านการเปรียบ​เทียบ​กับผู้คนในโลกออนไลน์ ฉะนั้น ตนจึงอยากเห็นการดำเนินการเชื่อมโยง​หมวดวิชา​ศึกษา​ทั่วไปกับรายวิชากับชุมชนอย่างถึงที่สุด เพื่อร่วมกันพัฒนาน้องๆ นักศึกษาเป็นคนดีและคนเก่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ​

ทั้งนี้ ในการเชื่อมโยงการพัฒนาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ฉบับปรับปรุง​ 2564​ ของมหาวิทยาลั​ยราชภัฏ​มหาสารคาม​ ได้เกิดการจัดการเรียนการสอนออกมาเป็น 10 รายวิชาที่จะบูรณาการ​กับชุมชน เช่น รายวิชาภาษา​ไทยกับการสื่อสาร รายวิชาภาษาอังกฤษ​เพื่อสื่อสาร รายวิชาภาษาและวัฒนธร​รม​ทางภาษา รายวิชาศาสตร์และศิลป​์ในการสร้างความสุข และรายวิชาทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัย​ได้นำนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ลงชุมชน เพื่อให้เกิดการฝึกฝนทักษะที่ตลาดแรงงาน/ชุมชนต้องการในด้านต่าง ๆ ซึ่งได้ลงชุมชน 3 แห่งใน จ.มหาสารคาม​ ได้แก่

วิสาหกิจ​ชุมชน​ปลูกข้าวปลอดสารพิษ บ้านหนองหิน วิสาหกิจ​ชุมชนเกษตรผสมผสาน​ บ้านทุ่งนาทอง และกลุ่มพัฒนาพุทธศาสตร์​การเรียนรู้​หลายช่วงวัย บ้านลาด โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างหลากหลาย อาทิ นวัตกรรม​สิ่งประดิษฐ์​เครี่อง​หั่นพลังงานกล เพื่อ​เป็น​เครื่อง​ทุ่นแรงในการหั่น ตัด ซอย พืชหรือผลผลิตต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด มัน หรือหญ้า ก่อนนำมาผสมเป็นอาหาร​เสริมให้สัตว์​ สามารถทุ่นแรงเกษตรกร​ที่เลี้ยง​วัว แพะ สุกร ในชุมชนบ้านลาด อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม​ รวมถึงยังมีนวัตกรรม​เครื่อง​นึ่งข้าวฮางไฟฟ้าด้วย​พลังงาน​แสงอาทิตย์​ ทำให้นึ่งข้าวฮางได้มากขึ้น ไวขึ้น และลดการใช้พลังงาน​ เพื่อ​ส่งเสริม​รายได้ให้กับเกษตรกร​ในชุมชน​

นอกจากนี้ ยังมีการสร้าง packaging อินทผาลัม เพื่อ​เพิ่ม​ความ​ดึงดูด​น่าสนใจ​ในการ​ซื้อขายอินทผาลัม ทั้งอินทผาลัมสดและอินทผาลัมอบแห้ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขาย สร้างช่องทางการจำหน่าย ให้แก่ชุมชนบ้านสะเดาหวาน จ.มหาสารคาม ตลอดจน สร้างนวัตกรรมการทำข้าวพองอบกรอบ เป็นข้าวพองเพื่อสุขภาพ ด้วยการเปลี่ยนสูตรข้าวพองอบกรอบไร้น้ำมัน เป็น​ตัวเลือกที่ดีสำหรับ​คนที่ต้องการ​ลดน้ำหนัก รักสุขภาพ สร้างสินค้าที่ขึ้นชื่อของชุมชนในอนาคต

#กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
#MHESI