นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ Ms. Sunita Lukkhoo ผู้อำนวยการภูมิภาค ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (EIB) เข้าพบ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ Ms. Sunita Lukkhoo ผู้อำนวยการภูมิภาค ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (EIB) ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เข้าพบ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ Ms. Sunita Lukkhoo ผู้อำนวยการภูมิภาค ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (EIB) ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เข้าพบ โดยมี Mr. Daniel Hachez, Minister Counsellor ประจำสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เข้าร่วมหารือ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank: EIB) เป็นสถาบันทางการเงินเพื่อการกู้ยืมของสหภาพยุโรป และเป็นสถาบันการเงินพหุภาคีรายใหญ่ของโลกที่มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับโครงการต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ อาทิ นวัตกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและให้ทุกภาคส่วนดำเนินการร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายสูงสุดของความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 (Carbon Neutrality in 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 (Net-Zero emission in 2065)

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาคมนาคมขนส่ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งตามแนวคิด “Green Transport” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดการปล่อยมลพิษ และลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ภายใต้การดำเนินโครงการต่าง ๆ คือ การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาคการขนส่งของประเทศให้เป็นพลังงานสะอาด อาทิ การปรับเปลี่ยนเป็น EV Bus, EV Boat และEV on Train การพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 14 เส้นทาง (ระยะทาง 554 กิโลเมตร) การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับส่งผู้โดยสารระหว่างสถานีและพื้นที่ในชุมชน ซึ่ง EIB มีความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของไทย รวมถึงแผนโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทาง และยินดีร่วมเป็นพันธมิตรที่ดีเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันในโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวต่อไป