วันที่ 25 เม.ย. 65 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่ฤดูฝน โดยยังคงมีอากาศร้อนจัดสลับฝนตกในหลายพื้นที่ จึงให้เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ วางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวให้เหมาะสมกับช่วงเวลา
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (25 เม.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 44,486 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 20,549 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 22,223 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 100 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,386 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 3,690 ล้าน ลบ.ม. และมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 6,143 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 108 ของแผนฯ
ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดความเสี่ยงจากผลผลิตเสียหาย โดยได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ประสานงานและตรวจสอบพื้นที่ที่มีการปรับปรุงอาคารชลประทาและทางน้ำที่อาจจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมเตรียมแผนการแก้ไขบัญหาไว้ล่วงหน้า รวมไปถึงเน้นย้ำให้ดำเนินการปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งหมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ แม่น้ำสายหลักต่างๆ
พร้อมกันนี้ได้ให้สำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ให้กับบุคลากรของหน่วยงานในทุกพื้นที่ ให้สามารถบำรุงรักษาและใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ให้เตรียมแผนสำรองในการขนย้ายเครื่องจักรเครื่องมือที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงเตรียมอุปกรณ์ต่างๆให้ครบตามความต้องการในการใช้งาน โดยพิจารณาจากสถานที่ใช้งานเป็นหลัก เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานต่อไป