รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง)

วันที่ 19 เม.ย. 65 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นำคณะเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ณ จุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ หัวหมาก บริเวณถนนศรีนครินทร์ จากนั้นคณะได้สำรวจความพร้อมของอาคาร Main Workshop ณ ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินการก่อสร้าง และความคืบหน้าการดำเนินโครงการ ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคาร OCC รวมทั้งเข้าชมการทดสอบการเดินรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูจากอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงไปยังสถานีมีนบุรี

โดยในการลงพื้นที่ นายสรพงศ์ฯ ได้หารือถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบในการก่อสร้าง โดยเบื้องต้นได้พบปัญหาและอุปสรรคการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทางก่อสร้าง เช่น บนถนนแจ้งวัฒนะบริเวณหน้าศูนย์ราชการ การล็อคดาวน์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสาธารณรัฐประชาชนจีนอันส่งผลให้การส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย โดยปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ส่งมอบรถแล้ว 21 ขบวนจากทั้งหมด 42 ขบวน และสายสีเหลือง ได้ส่งมอบรถแล้ว 26 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน ทั้งนี้ ในส่วนของการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีสาธารณูปโภค ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานก่อสร้าง และพิจารณาความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น การปรับแบบแปลนก่อสร้างเพื่อหลีกเลี่ยงแนวสาธารณูปโภคดังกล่าว

นายสรพงศ์ฯ ได้หารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการเร่งรัดการก่อสร้าง เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยจากเดิมตามสัญญา ทั้งสองสายจะเปิดให้บริการในปี 2566 ได้เร่งรัดให้มีการคืนพื้นที่ผิวจราจร และเปิดให้บริการเดินรถบางสถานี ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ได้แก่ สายสีชมพู เปิดให้บริการช่วงระหว่างสถานีมีนบุรีถึงสถานีหลักสี่ และสายสีเหลือง ช่วงสถานีสำโรงถึงสถานีพัฒนาการ ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบทุกสถานีในเดือนมิถุนายน 2566

นอกจากนี้นายสรพงศ์ฯ ยังได้เน้นย้ำเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางต่างๆ เช่น การเชื่อมต่อระหว่างสายรถไฟฟ้า ให้เชื่อมต่อระหว่าง Paid to Paid Area และยกเว้นการเก็บค่าแรกเข้า ทางเชื่อมต่อ (Skywalk) ให้มีการรองรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ตลอดจนพิจารณาการเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เช่น เรือโดยสารคลองแสนแสบ และรถโดยสารประจำทาง หากมีความจำเป็นอาจพิจารณาปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง และมีป้ายรถโดยสารใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า เพื่อเป็นการขนส่งสาธารณระบบรอง (Feeder) ให้กับรถไฟฟ้า เป็นตัน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายการตรวจสอบ (Checklist) เพื่อตรวจประเมินความพร้อมการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีรูปแบบก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง โดยสายสีชมพู มีระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรวม 30 สถานี และมีศูนย์ควบคุมการเดินรถและอาคารจอดแล้วจรอยู่ที่สถานีมีนบุรี ปัจจุบันความคืบหน้าก่อสร้าง ร้อยละ 86.51 โดยในส่วนสายสีเหลือง ระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรวม 23 สถานี และมีศูนย์ควบคุมการเดินรถและอาคารจอดแล้วจรอยู่ที่สถานีศรีเอี่ยม ปัจจุบันความคืบหน้าก่อสร้าง ร้อยละ 91.70 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง และแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างยั่งยืน