ดร. วีระ แข็งกสิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ รายงานจาก สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) และคณะ ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก (UNESCO Executive Board) ครั้งที่ 214
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามผู้แทนไทยในคณะกรรมการบริหารยูเนสโก โดยสรุปว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเป็นผลกระทบครั้งใหญ่ที่ทำให้ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน และส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น เท่าเทียม และทั่วถึง โดยชื่นชมยูเนสโกว่า เป็นองค์การที่เป็นส่วนความสำคัญในการสนับสนุนประเทศสมาชิกในการพัฒนาการศึกษาที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
ประเทศไทยสนับสนุนให้ยูเนสโกขับเคลื่อนความร่วมมือในประเทศสมาชิก ในลักษณะโครงการข้ามสาขาวิชา (cross cutting theme) เพื่อให้ประหยัดทรัพยากร และได้ผลลัพธ์แบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ในหลายๆเป้าหมายด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ยังได้กล่าวชื่นชมยูเนสโกที่ให้การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเยาวชน ซึ่งเป็นเครือข่ายที่กระตุ้นให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่สำคัญในระดับโลก และเชิญชวนให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมผ่านกลไกของความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับโลก โดยความร่วมมือเช่นนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสันติภาพและทางออกที่สร้างสรรค์ในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ในฐานะผู้แทนไทย ยังได้แสดงท่าทีสนับสนุนให้ยูเนสโก ให้กระจายอำนาจไปยังสำนักงานส่วนภูมิภาคต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสำนักงานยูเนสโกในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้มีสภาพแวดล้อมของการทำงานในเชิงบวกและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพงานของยูเนสโกในองค์รวม และสนับสนุนยุทธศาสตร์การเคลื่อนทรัพยากรของยูเนสโก ปี ค.ศ. 2022 – 2023 ซึ่งจะช่วยให้การบรรลุผลลัพธ์ในแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ของยูเนสโกมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของยูเนสโก ปี ค.ศ. 2023 – 2027 ด้วย
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวปิดท้ายว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference on SDG4-Education 2030 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร โดยร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีร่วมกันวิเคราะห์ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุมภายหลังผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จึงขอเชิญชวนให้ผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเข้าร่วมประชุมดังกล่าวต่อไป