นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. มอบหมายให้ นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานประชุมเพื่อจัดทำ (ร่าง) แนวทางการจัดทำหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องของสำนักงาน กศน. โดยมีนางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (ผอ.กพ.) นายนรา เหล่าวิชยา ที่ปรึกษาด้านการจัดการศึกษาตามโครงการพระราชดำริและบนพื้นที่สูง นางศุทธินี งามเขตต์ อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัด และข้าราชการเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเดอไพร์ม รางน้ำ กรุงเทพมหานคร
นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. กล่าวตอนหนึ่งว่า “ การจัดทำ (ร่าง) แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ด้านการพัฒนาอาชีพของสถานศึกษา ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้สถานศึกษาสามารถจัดทำและพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยหลักสูตรนี้จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากที่เราได้มีการปรับปรุงและจัดทำแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ด้านการพัฒนาอาชีพของสถานศึกษาขึ้น เพราะจะเป็นแนวทางให้สถานศึกษาในสังกัดใช้เป็นกรอบในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องให้มีมาตรฐานเดียวกัน และช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือเพิ่มพูนรายได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป”
นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผอ.กพ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ” นอกจากการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยแล้ว สำนักงาน กศน. ยังมีภารกิจในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ประกอบด้วย การจัดการศึกษาอาชีพ การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต และการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนและในปีที่ผ่านมากลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาได้พิจารณาและตรวจสอบหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ด้านการจัดการศึกษาอาชีพ ที่พัฒนาหลักสูตรโดยสถานศึกษา พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีความสอดคล้อง ไม่เป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรที่กำหนดไว้ และหลักสูตรที่พัฒนาไม่เป็นไปในทิศทางและแนวทางเดียวกันเป็นจำนวนมาก เราจึงได้ให้ความสำคัญกับพัฒนาแนวทางการจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานและอาชีพที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งบริบทของพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้สถานศึกษา ครูและบุคลากรที่ได้รับมอบหมายสามารถนำแนวทางการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องไปพัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการศึกษาที่หลากหลายและทันสมัย ในทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ”