สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 มี.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบน มีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พะเยา (119 มม.) จ.น่าน (100 มม.) และ จ.อุตรดิตถ์ (75 มม.)

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 27,234 ล้าน ลบ.ม. (47%) ขนาดใหญ่ 21,380 ล้าน ลบ.ม. (45%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 6/2565 เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

กอนช. ได้ติดตามข้อมูลคาดการณ์จะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือนมี.ค.- พ.ค.65 ของ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ โดยบริเวณหน้าสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า จะเกิดภาวะน้ำทะเลขึ้นเต็มที่ ในวันที่ 28 มี.ค.–3 เม.ย. 65 วันที่ 4 –6 พ.ค.65 และวันที่ 19 –21 พ.ค.65 ประกอบกับอิทธิพลของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ รวมทั้งเกิดลิ่มความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ในช่วงเวลาดังกล่าว และตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องพร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเร่งผลักดันน้ำเค็มโดยเร็ว

+ กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 7/2565 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย

กอนช.ได้ติดตามการคาดการณ์ สภาพอากาศ ของ กรมอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งเวียดนามตอนใต้จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย ในช่วงวันที่ 1 – 2 เม.ย.65 ส่งผลให้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในวันที่ 2 –4 เม.ย.65 บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำในลำน้ำ/แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก บุคลากร และเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที