“กรมคุมประพฤติ แจง การแสวงหาข้อเท็จจริงทางสังคม กรณีผู้ได้รับการพักการลงโทษ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

“กรมคุมประพฤติ แจง การแสวงหาข้อเท็จจริงทางสังคม กรณีผู้ได้รับการพักการลงโทษ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย มีกรอบเวลาที่ชัดเจน คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เสียหาย ทุกขั้นตอนโปร่งใส มุ่งเน้นความปลอดภัยทางสังคม”

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 กรมคุมประพฤติชี้แจง ขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงทางสังคมกรณีผู้ได้รับการพักการลงโทษเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

การพักการลงโทษ เป็นประโยชน์ที่นักโทษเด็ดขาด พึงได้รับตามมาตรา 52 (7) แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มิใช่เป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่นักโทษเด็ดขาดทุกคนจะได้รับ ดังนั้น นักโทษเด็ดขาดที่จะเข้าเกณฑ์การพักโทษเบื้องต้นต้องมีคุณสมบัตินักโทษชั้นดีขึ้นไปและต้องโทษจำคุกครั้งแรก มีผู้อุปการะซึ่งมีความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือ และต้องมีระยะเวลาคุมประพฤติไม่เกิน 5 ปี

การดำเนินการของสำนักงานคุมประพฤติเมื่อได้รับหนังสือ ขอความร่วมมือสืบเสาะข้อเท็จจริงทางสังคมจากทางเรือนจำหรือทัณฑสถาน สำนักงานคุมประพฤติ จะทำการแสวงหาข้อเท็จจริงทางสังคม ทั้งด้านที่พักอาศัย ผู้อุปการะ ความเห็นของผู้เสียหาย (ในกรณีที่มีผู้เสียหาย) และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ประกอบเพื่อดูความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ นำข้อมูลมาประเมินและวิเคราะห์แล้วจัดทำรายงานเสนอคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ซึ่งระยะเวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริงทางสังคม กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 60 วัน

การอนุมัติการพักโทษเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยพักการลงโทษซึ่งคณะกรรมการฯ ยังประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ร่วมด้วยดังนั้นหากมีผู้ใดแอบอ้างว่า สามารถช่วยเหลือให้มีการพักโทษได้ จึงเป็นไปไมได้และการดำเนินการในการแสวงหาข้อเท็จจริงทางสังคม สำนักงานคุมประพฤติไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ในกรณีที่มีผู้เสียหาย สำนักงานคุมประพฤติจะให้ข้อมูลของการช่วยเหลือเยียวยาตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม และประสานข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง