เลขา ฯ กศน. ชี้แจงนโยบายพาน้องกลับมาเรียน

นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานติดตามค้นหาผู้เรียน กศน. โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ของสำนักงาน กศน. ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ปีพุทธศักราช 2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมพาลาซโซ่ ที่ กรุงเทพฯ

นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานติดตามค้นหาผู้เรียน กศน. โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ของสำนักงาน กศน. ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ปีพุทธศักราช ว่า ตามนโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการ สร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเจ้าภาพหลัก ในการดำเนินงานสำรวจและติดตามเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนในโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่ง สำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องเข้ามาดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ

นายวัลลพ กล่าวต่อว่า การพาน้องกลับมาเรียน มีสาเหตุมาจากในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลให้เด็กนักเรียน นักศึกษาหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก และเด็กไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ตามปกติ ซึ่ง กศน. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องเข้าไปดูแลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ตรวจสอบ สำรวจ ลงพื้นที่ติดตามและปักหมุดการจัดการศึกษา ตลอดจนส่งต่อตามความต้องการของผู้เรียน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับผิดชอบการดำเนินการตามโครงการและขยายผลการสำรวจติดตามกลุ่มผู้เรียนให้นำเข้าสู่ระบบการศึกษา นอกจากนี้ผู้รับผิดชอบต้องสอบถามผู้เรียนถึงความต้องการ ความช่วยเหลือ หากนอกเหนือความช่วยเหลือที่ กศน. จะสามารถดำเนินการได้ ให้มีการประสานติดต่อประสานงานหน่วยงานอื่น ๆ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ในลำดับต่อไป เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้บรรลุเป้าหมาย

ซึ่งในวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ตนคาดหวังว่าจำนวนผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ของ กศน.จะต้องกลายเป็นศูนย์ ทั้งนี้จะมีการติดตามผู้เรียนกลับเข้าสู่ห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำข้อมูลของนักศึกษาที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษา 2/2564 มาวิเคราะห์ ซึ่งตนได้รับการรายงานถึงข้อมูลดังกล่าวปรากฏว่า มีจำนวนนักศึกษา กศน. ที่หมดสภาพนักศึกษา 1,174 คน รักษาสภาพ 2,727 คน ย้ายที่อยู่ 2,638 คน ลาออก 1,038 คน และไม่พบตัวตน 1,382 คน รวมทั้งสิ้น 9,603 คน ที่ กศน. ต้องติดตามพามาเรียนให้ได้ครบทุกคน เลขาธิการ กศน. กล่าวในที่สุด