กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เชื่อมต่อขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ ในขั้นตอนเดียว ยกระดับการบริการ อำนวยความสะดวกธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับกรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. หารือแนวทางยกระดับการจัดตั้งธุรกิจให้ง่ายขึ้น โดยอยู่ระหว่างการพิจารณารวมขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขึ้นทะเบียนประกันสังคม  ให้อยู่ในขั้นตอนเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ช่วยลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ และช่วยผลักดันอันดับของไทยใน Doing Business ด้านการเริ่มต้นธุรกิจในปี 2020 ให้ดียิ่งขึ้น

                นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตามรายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก หรือ Ease of Doing Business ปี 2019 ในส่วนของการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพหลักนั้น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 39 จาก 190 ประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ 5 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลา 4.5 วัน ได้แก่ 1) การจองชื่อบริษัท 0.5 วัน 2) การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน 3) การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 1 วัน 4) การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 วัน และ 5) การขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้าง 1 วัน ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นธุรกิจ ได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. พัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการยกอันดับ Ease of Doing Business ในปี 2020 ด้วย

อธิบดี กล่าวต่อว่า “แนวทางการพัฒนาที่สำคัญและกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ ‘การรวมขั้นตอน’ จาก 3 ขั้นตอน ใน 3 หน่วยงานไว้ด้วยกัน คือ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของกรมสรรพากร และการขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้าง ของสำนักงานประกันสังคม (ขั้นตอนที่ 3-5) เป็นขั้นตอนเดียว โดยปัจจุบันผู้ประกอบการจำเป็นต้องเดินทางเพื่อไปติดต่อทั้ง 3 หน่วยงานเพื่อทำธุรกรรมดังกล่าว ทำให้เสียเวลา ค่าใช้จ่าย และไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ดังนั้น การรวมขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้างให้สามารถดำเนินการได้  ณ จุดเดียวจะทำให้ลดขั้นตอน และระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ และการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่ดีขึ้น”

“นอกจากนี้ การพัฒนาการให้บริการในครั้งนี้ยังเป็นการยกระดับการให้บริการของส่วนราชการแบบบูรณาการ ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการเริ่มต้นธุรกิจเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดแรงจูงใจ แรงสนับสนุนให้ SMEs ไทยเข้าสู่ระบบการเป็นนิติบุคคล และช่วยดึงดูดให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติ  มาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย ที่สำคัญถ้าหากการรวมขั้นตอนดังกล่าวเสร็จสิ้นจะทำให้การเริ่มต้นธุรกิจมีเพียง   2 ขั้นตอน และใช้ระยะเวลาแค่ 1.5 วัน ส่งผลต่อการจัดอันดับ Ease of Doing Business ในปี 2020 ของไทยดียิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนชาวต่างชาติ การค้าการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมจะก้าวหน้ามั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพต่อไป” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด

*******************************************

ที่มา : กองทะเบียนธุรกิจ