สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 ก.พ. 65

+ ทุกภาคมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ บริเวณภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (245 มม.) จ.ตรัง (175 มม.) และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (115 มม.)

+ พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน/น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ อ.แก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี อ.ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย .ประจวบคีรีขันธ์ อ.สวี ท่าแซะ พะโต๊ะ ละแม จ.ชุมพร อ.พนม ท่าชนะ ไชยา บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี อ.นบพิตำ พิปูน ลานสกา สิชล ท่าศาลา ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และอ.ห้วยยอด จ.ตรัง

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 32,035 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดใหญ่ 25,733 ล้าน ลบ.ม. (54%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ เมื่อวานที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืน ร่วมกับ ดร.ธนบวร สิริคุณากรกุล ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เนื่องจากการกำจัดผักตบชวาเป็น 1 ใน 10 มาตรการฤดูฝน ปี 2564 ที่ดำเนินงานโดย 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร มีผลการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 5,319,444 ตัน

สำหรับการหารือครั้งนี้ได้นำ “นวัตกรรมการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืนด้วยสารสกัดจากพืชสมุนไพร (Herb)” ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยวิธีการใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร เพื่อสกัดการสังเคราะห์แสงและโปรตีนของใบผักตบชวา ทำให้ใบแห้งเหี่ยวตายจากใบจนถึงราก-เมล็ด โดยไม่ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำ ไม่ส่งผลกระทบต่อคน สัตว์น้ำ และคุณภาพน้ำ นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยกำจัดผักตบชวา ซึ่งเป็นอุปสรรคที่กีดขวางทางไหลของน้ำ ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางน้ำและคุณภาพน้ำได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม สทนช.จะพิจารณาความเหมาะสมรวมถึงความคุ้มค่าในการนำนวัตกรรมดังกล่าวสู่การปฏิบัติ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการ อำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป