นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และคณะเข้าพบ เพื่อหารือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าประชุมหารือกับ Mr. TAKETANI Atsushi ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) พร้อมด้วย Mr. HIDAKA Kazuo ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCCB) และคณะเข้าพบ เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคม โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
ในการหารือครั้งนี้ ประธาน JETRO ได้รายงานผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม) โดยสะท้อนจากค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 (ตัวเลขคาดการณ์) ปรับตัวสูงขึ้น จากการที่เอกชนญี่ปุ่นเห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัว ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนจะได้รับการแก้ไขตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่คลี่คลาย นอกจากนี้ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค)
ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวขอบคุณประธาน JETRO สำหรับรายงานผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้ตอบคำถามให้ความมั่นใจ ผ่านประธาน JETRO ไปยังนักลงทุน ในประเด็นที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการทราบถึงความต่อเนื่องของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่งว่า ขอยืนยันถึงเป้าหมายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมกันพัฒนาปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านคมนาคมโลจิสติกส์ตามข้อเสนอแนะของภาคเอกชนญี่ปุ่นให้มีความต่อเนื่อง มีผลเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรักษาฐานการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทย
ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สานต่อนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ทั้งในมิติการเดินทางในเมือง มิติการขนส่งสินค้าระหว่างเมือง และการเชื่อมโยงภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้เดินหน้าการพัฒนาระบบคมนาคมเชิงรุก และวางรากฐานการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยสู่อนาคต รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นที่อยู่ในความสนใจอื่น ๆ อาทิ แผนการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของรัฐบาลไทยในภาคคมนาคมขนส่ง และแนวทางการเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางน้ำและทางรางทดแทนสัดส่วนการขนส่งทางถนน เป็นต้น