สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ม.ค. 65

+ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ขอนแก่น (93 มม.) จ.น่าน (52 มม.) และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (48 มม.)
+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 34,405 ล้าน ลบ.ม. (59%) ขนาดใหญ่ 27,555 ล้าน ลบ.ม. (58%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)
+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
+เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงวันที่ 30 ม.ค.- 6 ก.พ. 65เนื่องจากเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.8-2.0 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงขอให้ติดตามสภาวะระดับน้ำอย่างเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระดับน้ำทะเลสูงดังกล่าวและติดตามระดับน้ำอย่างใกล้ชิด

พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ ภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 65 ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาแผนการควบคุมความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกง และแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางและระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเส้นท่อส่งน้ำสายหลักของพื้นที่ภาคตะวันออก ตลอดจนรับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการศึกษาการผลิดน้ำจืดจากน้ำทะเล การศึกษาแผนพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำคลองบางไผ่ และติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำปี 2564 และ 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ทั้งนี้ ประธานอนุกรรมการฯ ได้มอบนโยบายให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ภายหลังการประชุม คณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาบางปะกง เพื่อติดตามสภาพน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงและร่วมหารือถึงแนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเขื่อนทดน้ำบางปะกงให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของน้ำทะเลและสภาพภูมิประเทศเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป