Young สุข Young ไม่เสี่ยง

“เยาวชน” เปรียบเสมือนต้นกล้าที่กำลังเจริญเติบโต และงอกงาม ในสนามชีวิตขนาดใหญ่ หากพวกเขาได้รับการดูแล ให้เรียนรู้ เติบโตในเส้นทางที่ถูกต้อง และเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นจากครอบครัว ครู อาจารย์ เพื่อนฝูง รวมทั้งสังคมซึ่งเป็นพื้นที่  ที่สำคัญที่สุด ที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ ฝึกฝน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ที่จะพัฒนา สร้างสรรค์ ต่อยอด และดูแลสังคมให้เป็นสนามทดลองที่น่าเรียนรู้ เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้สิ่งที่อยู่รอบตัวพวกเขา ล้วนเต็มไปด้วยอันตรายมากมาย ที่จะคอยหลอกล่อ ชักนำ ให้ชีวิตของพวกเขาเติบโตไปในเส้นทางที่ผิด ทำให้ต้นกล้าที่กำลังสวยงามเหล่านั้น ไม่ได้ผลิดอก ออกผล อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นพิษภัยจากบุหรี่ เหล้า ยาเสพติด การพนัน รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ มากมายที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอกับนักเรียนรู้ และทดลองอย่างพวกเขา

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ภายใต้โครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” ซึ่งมีเป้าหมายสร้างการรับรู้และความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงเรื่อง เหล้า บุหรี่ และการพนัน ให้กับเด็กและเยาวชน นำร่อง 21 โรงเรียนในเครือข่ายภาคอีสาน เพื่อเตรียมขยายผลสู่โรงเรียน ครอบครัว และชุมชนทั่วประเทศให้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็ก เยาวชนในยุคสมัยนี้มีความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปจากดั้งเดิม ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ท้าทาย และมีอยู่รอบตัวเต็มไปหมด สสส. ทำงานลดปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงจำนวนมากสัมพันธ์กับพฤติกรรมจำนวนมาก เช่น การเริ่มต้นสูบบุหรี่  เริ่มต้นดื่มเหล้า การติดพนัน และปัญหาอื่น ๆ มักจะเริ่มต้นในช่วงวัยของการกำเนิดพฤติกรรม ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของการสร้างนิสัย ไม่ใช่เรื่องของการห้ามและการสอน แต่เป็นการให้เขาได้เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วม พวกเขาไม่ได้ถูกมองเป็นเหยื่อ ที่จะรอให้คนอื่นเข้ามาปกป้องเท่านั้น แต่พวกเขาเข้ามาเพื่อปกป้องตัวเอง ปกป้องสังคม และเพื่อนฝูงที่อยู่รอบข้าง ซึ่งตรงจุดนี้จะสร้างพฤติกรรมระยะยาวได้ดีกว่า นั่นจึงเป็นที่มาของค่ายกิจกรรม Young สุข Young ไม่เสี่ยง ที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ถึงแก่นของปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ การพนัน การติดเกม ท้องไม่พร้อม ซึ่งพวกเขาก็ได้เรียนรู้และร่วมกันหาทางแก้ไข ผลิตสื่อต่าง ๆ เพื่อสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งวิธีการ และสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ สสส. จะรวบรวมไว้และพัฒนาต่อ เพื่อขยายผลในวงกว้างต่อไป

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ได้สนับสนุน โครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จ.ขอนแก่น ขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงในเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ

1.เพื่อพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ให้กับเยาวชนกลุ่มเสี่ยง

2.เพื่อพัฒนาเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์และ จ.สุรินทร์

3.เพื่อพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ผลการดำเนินงานของแกนนำเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง

4.เพื่อประเมินประสิทธิผลการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาเครือข่าย

นายมนตรี จิตจักร หรือคุณครูทองคำ ครูโรงเรียนบ้านทิพย์นวด จ. สุรินทร์ เล่าว่า โรงเรียนบ้านทิพย์นวดเป็นโรงเรียนขยายโอกาส อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ปัญหาของโรงเรียน คือ นักเรียนเริ่มอยากรู้ อยากลองในเรื่องของบุหรี่ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวหย่าร้าง อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำงานหารายได้เองในวันเสาร์ อาทิตย์ แล้วนำรายได้ที่ได้มานั้นไปซื้อบุหรี่มาทดลองสูบ หรือไม่ก็ซื้อรหัสเติมเกมออนไลน์ การนำนักเรียนมาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เพื่อหวังให้ตัวแทนนักเรียนเหล่านี้เป็นเยาวชนต้นกล้า เป็นต้นแบบในการชักจูงเพื่อน ๆ ในโรงเรียนออกจากปัจจัยเสี่ยง นำเงินที่ได้จากการหารายได้มาใช้กับการเรียน การศึกษา ใช้กับสิ่งที่เป็นประโยชน์ แทนการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง โดยโครงการที่เคยนำไปขยายผลต่อในโรงเรียน คือ โครงการลด ละ เลิกบุหรี่ โดยนำแกนนำนักเรียนที่เป็นสภานักเรียน ไปเล่าถึงผลดีของการลด ละ เลิกบุหรี่ ให้น้อง ๆ ในโรงเรียนฟัง

“สุดท้ายนี้ อยากเชิญชวนให้ทุก ๆ โรงเรียนมาเข้าร่วมโครงการ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” เพื่อที่จะสร้างต้นกล้า สร้างเยาวชนที่ดี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง นำประเทศไทยของเรา ลดภาวะเสี่ยงในอนาคต นำไปสู่สังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น” ครูทองคำกล่าว

นายธนายุต เที่ยงไธสง หรือน้องบอล ตัวแทนนักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากโรงเรียนคูเมืองวิทยาคม จ. บุรีรัมย์  กล่าวว่า ตนมาเข้าร่วมโครงการได้โดยผ่านคำชักชวนของคุณครูที่โรงเรียน เมื่อมาเข้าร่วมโครงการแล้ว ก็ได้เรียนรู้การพัฒนาด้านการสื่อสาร การจัดทำสื่อสมัยใหม่ เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ในรูปแบบคลิปวิดีโอ หนังสั้น นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมสันทนาการ และความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดจัดค่ายกิจกรรมในโรงเรียน โดยคัดเลือกนักเรียนกลุ่มเป้าหมายมาร่วมกิจกรรม ซึ่งนักเรียนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมก็จะได้รับทั้งประโยชน์และความสนุก

“ในส่วนของปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในโรงเรียนที่ชัดเจน คือ ปัญหาบุหรี่ สังเกตได้จากก้นบุหรี่ที่ตกอยู่ตามพื้นในห้องน้ำของโรงเรียน ซึ่งมีจำนวนมาก แต่หลังจากจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ไปแล้ว พบว่า ปัญหาลดน้อยลง ทั้งนี้ ได้ใช้กลยุทธ์เพื่อนเตือนเพื่อน โดยให้เพื่อนในห้องเดียวกัน หรือเพื่อนสนิทช่วยตักเตือนกันเอง ซึ่งมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะรับฟังมากกว่าให้คนนอก หรือผู้ใหญ่เข้าไปพูด สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงเพื่อน ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกันว่า ในช่วงนี้ยังไม่สายเกินไป ที่จะสามารถกลับตัวได้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข อยากให้คิดถึงอนาคตของตัวเองเป็นหลัก และซื่อสัตย์กับความฝันของตัวเอง” นายธนายุต กล่าว

ในส่วนของนักเรียนที่ได้รับรางวัลความภาคภูมิใจจากค่ายกิจกรรมในครั้งนี้อย่าง นางสาวชมพูนุช สิงห์คำ นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองสะแก ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานประกวดการผลิตสื่อ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง Award ครั้งที่1″ ประเภทโปสเตอร์รณรงค์ เล่าว่า ตนออกแบบผลงานในชื่อ “คนรุ่นใหม่ ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” โดยออกแบบเป็นรูปปอดสองข้างเปรียบเทียบปอดของคนที่สูบบุหรี่ กับปอดของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลุงของตนเอง ซึ่งเป็นคนที่สูบบุหรี่ ตนอยากให้ลุงเลิกตั้งแต่ตอนนี้ เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่ยังไม่สายเกินไป ตนรู้สึกขอบคุณโครงการที่ให้โอกาสในการร่วมกิจกรรม และได้รับรางวัลในครั้งนี้

ทางฝั่งของทีม WYK โรงเรียนแวงใหญ่วิทยาคม จ.ขอนแก่น ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการผลงานประกวดการผลิตสื่อ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง Award ครั้งที่ 1″ ประเภทคลิปวิดีโอ เล่าว่า ทีมของตนทำคลิปเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่หลงผิดเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ แต่สุดท้ายเรื่องราวก็หักมุม โดยถ่ายทอดให้เห็นผลดี ผลเสียของการเลือกทางเดินชีวิตที่แตกต่างกัน โดยสาเหตุที่เลือกทำคลิปเกี่ยวกับบุหรี่ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยความรู้ที่นำไปใช้ประกอบการทำคลิป ก็เป็นความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมค่ายกิจกรรม “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ทั้งนี้ ทีมรู้สึกภูมิใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศเลย ขอบคุณโครงการที่มอบโอกาสให้ได้ทำกิจกรรม และเป็นแกนนำให้กับคนรุ่นใหม่ ได้รับรู้เกี่ยวกับสารเสพติด ทางทีมจะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่ออย่างแน่นอน

ต้นกล้าจะเจริญเติบโต งอกงามเป็นต้นใหม่ใหญ่ได้ ต้องอาศัย ดิน น้ำ ปุ๋ย แสงแดดที่ดีและพอเหมาะฉันใด เด็กและเยาวชนจะเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพได้อย่างเต็มศักยภาพ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนให้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ฉันนั้น “Young สุข Young ไม่เสี่ยง โครงการสานพลังเยาวชนอีสานห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” เป็นหนึ่งในโครงการเสริมสร้างสุขภาวะ ที่ต้องการสร้างเกราะป้องกันปัจจัยเสี่ยงให้กับเยาวชน ช่วยวางรากฐานที่มั่นคง ให้พวกเขาได้เติบโตอย่างเต็มกำลังศักยภาพ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการปกป้องอนาคตของตัวเอง เพื่อน รวมทั้งเด็ก ๆ รุ่นหลัง สามารถส่งต่อองค์ความรู้ วิธีรับมือ และต่อสู้กับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ให้มาทำร้าย ทำลายอนาคตที่สดใสของพวกเขาได้ รวมทั้งสามารถสร้างสังคมแห่งสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป