ชป. ปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรกล เตรียมพร้อมช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ

วันที่ (8มี.ค.62) นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกิจกรรม “ปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง” โดยมี นายสุรจิตร์ อินทรชิต รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมกรมชลประทาน  นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายสุพิศ  พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11  ดร.วัชระ เสือดี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม ณ สนามฟุตบอล(น้ำแก้จน) กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ตามนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและบรรเทาแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น  ซึ่ง กรมชลประทานได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งมาโดยตลอด  ทำการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ  ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ทั้งยังเตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร ในการช่วยเหลือหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ในครั้งนี้เป็นการปล่อยขบวนคาราวานเครื่องมือ เครื่องจักร อาทิเช่น รถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่นๆ  จากสำนักเครื่องจักรกลส่วนกลาง เข้าสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติม โดยจัดส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำจำนวน 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 527 เครื่อง รถขุดจำนวน 499 คัน เรือขุดจำนวน 69 ลำ รถบรรทุกจำนวน 511 คัน รถบรรทุกน้ำจำนวน 106 คัน รถแทรกเตอร์จำนวน 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร จำนวน 7 อัน พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(ณ 7 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 27,047 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,702 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(8 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 80 ลบ.ม./วินาทีรับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 312 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนปริมาณค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำสำแล วัดได้ 0.15 กรัม/ลิตร และแม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.13 กรัม/ลิตร ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และสามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ

ในส่วนของแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ วางแผนจัดสรรน้ำไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ ผลการจัดสรรน้ำ ล่าสุด(7 มี.ค. 62)มีการใช้น้ำไปแล้วทั้งประเทศ 16,168 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำ(1 พ.ย. 61 – 30 เม.ย. 62)รวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 6,440 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ หรือเหลือน้ำใช้ตามแผนที่วางไว้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้อีกประมาณ 1,560 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาต่อเนื่อง(นารอบที่ 3) เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตและสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน

*************************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์