มท. เดินหน้า! มอบ พช. ตรวจเยี่ยมความสำเร็จ “มหานครแห่งโคก หนอง นา” จ.อุบลฯ ตามหลัก “บวร” พร้อมหนุน “โคก หนอง นา วังอ้อโมเดล” และศูนย์สารภีท่าช้าง เป็นต้นแบบระดับประเทศ

วันที่ 17 มกราคม 2565 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นางอุทัยวรรณ มินสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ในการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตลอดจนความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดในประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า “อาณาจักร โคก หนอง นา” หรือมหานครแห่ง “โคก หนอง นา”

นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และได้สั่งการให้กรมการพัฒนาชุมชน พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในการขยายผลศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนพลัง “บวร” และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในทุกช่วงวัย โดยนายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นางอุทัยวรรณ มินสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา และคณะจากกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ลงพื้นที่เพื่อจัดทำหลักสูตรสำหรับกิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” พร้อมเชื่อมโยงหลักสูตรการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

โดยในภาคเช้า คณะจากกรมการพัฒนาชุมชน ได้เดินทางไปยังศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระนักพัฒนาที่ร่วมมือและเสียสละการดำเนินงานมาโดยตลอดตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ได้บรรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและนำเยี่ยมชมฐานเรียนรู้ภายในศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ รวมไปถึงนายวิลาศ บุญโต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอำนวยอวยพรต่อคณะจากกรมการพัฒนาชุมชนว่า “จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” มากถึง 4,044 แปลง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาและต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ต่อไป โดยเฉพาะการยึดหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ทำให้จังหวัดอุบลราชธานี มีความก้าวหน้า โดดเด่นในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจนเป็นต้นแบบในการดำเนินงานไปทั่วประเทศ”

“ในส่วนของพื้นที่ โคก หนอง นา วังอ้อโมเดล แห่งนี้ ถือเป็นศูนย์เรียนรู้ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างให้กับครอบครัว ชุมชน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เป็นความมั่นคงขั้นพื้นฐาน และจักขยาย เป็นความมั่นคงขั้นก้าวหน้า คือบุญ ทาน เก็บขาย เป็นความร่วมมือของ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ และที่สำคัญ คือจิตวิญญาณ ในการเข้าถึงศาสตร์พระราชา และธรรมะขององค์สมเด็จ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อาทิ ความสันโดษ ความอดทน ความเพียร ความสามัคคี ความมีน้ำใจ ความซื่อสัตย์ สุจริต จิตอาสา” ซึ่งการมอบผลผลิตจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ก็เพื่อเป็นมหากุศลตามคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา” Our Loss is Our Gain และในอนาคต ต่อไปข้างหน้าชุมชนจะมีความมั่นคงทางอาหารไว้กิน ไว้ใช้ ไว้แบ่งปัน ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ได้มาตรวจเยี่ยมและเป็นกำลังใจ และร่วมสนับสนุนการดำเนินงานใน เพื่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และทางรอดให้แก่คนในชุมชนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)”

จากนั้นในช่วงบ่าย คณะจากกรมการพัฒนาชุมชน ได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ซึ่งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมี นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมคณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอสว่างวีระวงศ์ ตลอดจนคณะกรรมการศูนย์ฯ ให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงาน

ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ตั้งอยู่ที่ บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้งเมื่อปี 2518 โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับบริจาคที่ดินทั้งหมด 50 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารฝึกอบรมและมีเจ้าหน้าที่ดูแล ตั้งอยู่ในเขตบ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อปี 2556 สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างวีระวงศ์ และได้มอบหมายให้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ แผนผังการใช้ศูนย์สารภี และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและระเบียบข้อบังคับของศูนย์ฯ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งในปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชน มีแนวทางในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ให้เป็นต้นแบบบโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์พัฒนาศูนย์ฯ ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมการพัฒนาชุมชนได้มีนโยบายให้ศูนย์ฯ ดำเนินการปรับพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และมีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อให้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนอื่น ก่อนขยายผลไปยังระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป