สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ธ.ค. 64

+ ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.พังงา (15 มม.) จ.พัทลุง (14 มม.) และ จ.ภูเก็ต (12 มม.)

+ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.นราธิวาส และยะลา

+ สถานการณ์น้ำท่วมขัง ยังคงมีน้ำท่วมขัง บริเวณ จ.นราธิวาส รวม 4 อำเภอ 7 ตำบล 13 หมู่บ้าน 733 ครัวเรือน

+ เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 21-23 ธ.ค. 64 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 38,100 ล้าน ลบ.ม. (66%) ขนาดใหญ่ 30,724 ล้าน ลบ.ม. (64%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง เฝ้าระวังค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำท่าจีนปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ พบว่าวานนี้ (20 ธ.ค. 64) เมื่อเวลา 01.00 น กำแพงกั้นน้ำแม่น้ำสุไหงโก-ลกทรุดตัวเสียหายส่งผลให้น้ำในแม่น้ำไหลทะลักเข้าพื้นที่ชุมชน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ระดับน้ำมีสูงประมาณ 30–80 ซม. ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการวางบิ๊กแบ๊ค พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ ในขณะที่ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี บริเวณ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี อยู่ที่ระดับ +2.35 ม.ร.ท.ก. ระดับน้ำล้นตลิ่ง 0.35 ม.และเริ่มเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการควบคุมการระบายน้ำตามความจุลำน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปัตตานี ดังนี้

 ควบคุมการระบายน้ำเขื่อนปัตตานีลงแม่น้ำปัตตานีตามศักยภาพลำน้ำ

 ตัดยอดน้ำผ่านระบบส่งน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา

 ควบคุมการระบายน้ำประตูระบายน้ำปรีกี ผ่านแม่น้ำปัตตานีและคลองตุยงสลับเป็นช่วง ๆ

 ระบายน้ำลงทะเลผ่านแม่น้ำปัตตานีและคลองระบายสายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล

 เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ ตรวจสอบอาคารชลประทานพร้อมใช้งาน กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งขุดลอกทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ