ปลัด พม. นำประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต “พม.โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านการทุจริต” (MSDHS Zero Tolerance) เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล 9 ธันวาคม 2564

วันที่ 9 ธ.ค. 64 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณลานพระประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กรุงเทพฯ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต “พม.โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านการทุจริต” (MSDHS Zero Tolerance) เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล 9 ธันวาคม 2564

นางพัชรี กล่าวว่า ด้วยองค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็น”วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล” กระทรวง พม. จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ภายใต้แนวคิด “พม. โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านการทุจริต” (MSDHS Zero Tolerance) เพื่อแสดงถึงพลังความร่วมมือร่วมใจกันในการสร้างสังคม พม. ให้เป็นสังคมที่โปร่งใส ใสสะอาด เป็นองค์กรธรรมาภิบาลที่ไม่ยอมรับ ไม่ทน ไม่เพิกเฉย และไม่กระทำการทุจริตในทุกรูปแบบ รวมทั้งเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่จริงจังในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของกระทรวง พม. ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริต เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และสร้างระบบการทำงานภาครัฐ อย่างมีคุณธรรมและความโปร่งใส ทั้งนี้ ตนขอประกาศจุดยืนทางนโยบายอันแน่วแน่ว่า กระทรวง พม. จะเป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นดำเนินงานตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตของรัฐบาล จึงมีนโยบายในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการลดการทุจริต อาทิ

1) ผู้บริหารทุกระดับต้องดำรงตนเป็นต้นแบบที่ดีในด้านความซื่อสัตย์สุจริต โดยเริ่มจากตนเอง ผู้บริหารทุกระดับจะต้องเป็นผู้ที่ไม่กระทำการทุจริตในทุกรูปแบบ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการมีคุณธรรมจริยธรรม

2) มุ่งปลูกและปลุกจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริต สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนตน สิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม มีความละอายต่อการกระทำความผิด ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต

3) มุ่งปรับระบบและสร้างกลไก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการทุจริตและประพฤติ มิชอบขึ้นในหน่วยงาน โดยสนับสนุนให้มีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันหรือเฝ้าระวังความผิดปกติที่จะทำให้เกิดการทุจริต

4) มุ่งแก้ไขปัญหาการทุจริตและมีการลงโทษโดยยุติธรรม โดยมีการดำเนินการที่ตรงไปตรงมาปราศจากอคติ มีความแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่กระทำความผิดจะได้รับการลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้บุคลากรทุกคนประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือประโยชน์ของส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพื่อสร้างสังคม พม. ให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชัน นำพากระทรวง พม. ให้เป็นกระทรวงแห่งความโปร่งใส ร่วมกันปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายจุติ ไกรฤกษ์) อย่างเคร่งครัด และร่วมกันสร้าง “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand)” ไปด้วยกัน และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระทรวง พม. ต่อไป

#########