วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ณ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ดร.โฆษิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการระงับข้อพิพาท นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นายณัฐพล ด่านจิตร์ตรง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ นางบุญภาดา พึ่งบุญ ณ อยุธยา อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะเจ้าหน้าที่ เข้าพบ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คณะผู้บริหาร กรรมการ และคณะเจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฯ ในรูปแบบ Hybrid และผ่านทางออนไลน์ ระบบ Zoom
สำหรับการเข้าพบในครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ตลอดจนภารกิจอื่นๆ ที่สำคัญของกรมฯ ได้แก่
1. การจัดทำและขับเคลื่อนแผน 2 ฉบับ คือ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2565) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565)
2. การบังคับใช้ พ.ร.บ. 3 ฉบับ (การช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา, การคุ้มครองพยาน, การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท)
3. การผลักดันกฎหมายสำคัญ อาทิ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ, ร่าง พ.ร.บ. ทรมานฯ, และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองพยานฯ
4. การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน (ICCPR, ICESCR, CAT, ICERD, ICPPED) และกระบวนการ UPR โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ “ลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ทั้งนี้ ประธานสมาพันธ์ฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และงานไกล่เกลี่ยการระงับข้อพิพาท โดยได้ดำเนินการวางแผนที่จะร่วมลงนาม MOU ในการร่วมมือกันสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนประจำสมาพันธ์ฯ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเข้าร่วมสมัครเข้ารับการคัดเลือกการเป็นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงได้กำหนดลงนาม MOU ร่วมกันในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่จะถึงนี้