วันที่ 19 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กรมการพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกรมฯ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting) ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน
โดยการประชุมครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่ เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” วัตถุประสงค์เพื่อบูรณาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายได้รับความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาในมิติต่าง ๆ และครัวเรือนเป้าหมายมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยมีเป้าหมาย
1) ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP ที่ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 983,316 คน 568,047 ครัวเรือน
2) ครัวเรือนเป้าหมายได้รับความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาในมิติต่าง ๆ
3) ครัวเรือนเป้าหมายมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
โดยแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) กำหนดให้เรื่องขจัดความยากจนเป็นเป้าหมายที่หนึ่ง ภายใต้หลักการ ‘End poverty in all its forms everywhere’: ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เป็นการวางเป้าหมายเพื่อลดความยากจนในมิติต่าง ๆ ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ที่ให้ความสำคัญการพัฒนาคน ทุกช่วงวัย การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างหลักประกันทางสังคมและ ลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้า การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการ พัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยการวัดความยากจนในระบบ TPMAP จะเป็นการนำดัชนีความยากจนหลายมิติระดับประเทศ (National MPI) มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากความยากจนมีได้หลายมิติมากกว่ามิติรายได้ ซึ่ง สศช. เป็นผู้กำหนดมิติความยากจนต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีการกำหนดมิติความยากจนไว้ 5 มิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ และด้านรายได้