พช.นครศรีธรรมราช ขับเคลื่อน “นครแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP

วันที่ 15 ตุลาคม 2564เวลา 09.30 น. นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นางดวงธมล สวัสดี นักวิชาการ (ผู้ช่วย) ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และนางสาวนุชนาถ ยอดแก้ว นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน ดำเนินการส่งมอบวัสดุสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการประกอบอาชีพ “เมนูอาชีพ การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงเป็ดไข่” ให้แก่ครัวเรือนเป้าหมาย ตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนสร้างงานสร้างอาชีพและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่อำเภอท่าศาลา โดยมี นางจารีย์ พรหมเกิด พัฒนาการอำเภอท่าศาลา พร้อมด้วย ผู้แทนคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ (คจพ.อ.) รับมอบปัจจัยการผลิตดังกล่าว เพื่อส่งมอบให้แก่ครัวเรือนเป้าหมาย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บูรณาการร่วมกับภาคส่วนราชการและประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ เป้าหมายใน 5 มิติ ตามระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP : Thai People Map and Analytics Platform)

มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ

มิติที่ 2 ด้านความเป็นอยู่

มิติที่ 3 ด้านการศึกษา

มิติที่ 4 ด้านรายได้

มิติที่ 5 ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเชิงลึกรายครัวเรือน พบว่า มิติด้านรายได้ ตามเกณฑ์ฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) มีครัวเรือนตกเกณฑ์ จำนวน 383 ครัวเรือน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเป็นอย่างมาก จังหวัดจึงได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนสร้างงานสร้างอาชีพและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช สำรวจข้อมูล และสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาร่วมกับครัวเรือนเป้าหมายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดหาวัสดุสนับสนุนปัจจัยการผลิต และการประกอบอาชีพตามเมนูอาชีพ 5 เมนู ได้แก่ การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงเป็ดไข่ การเลี้ยงปลานิล การปลูกผักสวนครัว และการเพาะเห็ด

สำหรับการดำเนินงานในกิจกรรมต่อไป กำหนดให้ทีมปฏิบัติการฯ ระดับอำเภอ ดำเนินการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการสร้างงานสร้างอาชีพ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถึงระดับครัวเรือน พร้อมส่งมอบปัจจัยการผลิต วัสดุสำหรับครัวเรือน เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือน ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาชีวิตของตนเอง และสอดคล้องตามแนวทางความเข้าใจที่ได้รับจากทีมปฏิบัติการฯ ระดับอำเภอ โดยทีมปฏิบัติการฯ ระดับอำเภอ จะติดตามให้แนะนำครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการฯ บรรลุตามแผนพัฒนาชีวิตของครัวเรือน และสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ต่อไป