วันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมรับการตรวจราชการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดเดินทางมาตรวจราชการ ณ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยมีที่หมาย ประกอบด้วย
1)โรงเรียนศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม
2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม
3)โครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (วัดป่าศรีแสงธรรม) ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม
4)โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ตำบลนิคมลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร
5)ศูนย์พักพิงโครงการปรับปรุงคุณภาพ (บ่อบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองวารินชำราบ) ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ
โดยได้รับความเมตตาจากพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีเเสงธรรม รวมไปถึง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นางวิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายนิมิต เทพนิจ นายอำเภอโขงเจียม นางไพรวัลย์ คำจริง พัฒนาการอำเภอโขงเจียม พัฒนาการอำเภอ 25 ทั้งอำเภอ เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี คณะครูโรงเรียนศรีแสงธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ร่วมต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะภารกิจในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ตามที่หมาย 1-3 ณ สถานที่โรงเรียนศรีเเสงธรรม วัดป่าศรีแสงธรรม และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) พื้นที่ 15 ไร่ บ้านดงดิบ หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
โอกาสนี้ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารจากกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดการเดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 ของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวข้องกับภาระงานในกำกับดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ในการน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” มาปรับใช้ในชีวิตจะเป็นทางรอดของสังคมและทุกคนในชาติ ซึ่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้เปิดเผยว่า “โครงการ “โคก หนอง นา” จะเป็นคำตอบและทางออกสำคัญของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ประชาชนมีความรู้ มีกิน มีใช้ และแบ่งปันช่วยเหลือกันและกันภายในสังคมได้ ถือเป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่าเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือก เพราะในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ “โคก หนอง นา” จะเป็นโมเดลต้นแบบ ในการพึ่งพาตนเองในเรื่องของการสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพที่มั่นคง ในยุคที่เราต้องประสบทั้งวิกฤตโรคระบาด สุขภาพ และวิกฤตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลต่อเนื่องตามมา โครงการนี้ก็จะช่วยทุกคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศและทั่วแผ่นดินไทยได้อย่างแท้จริง”
ด้าน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้แจ้งกำหนดการ พร้อมนำคณะฯ เดินสำรวจพื้นที่เตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ โรงเรียนศรีแสงธรรม กราบนมัสการพระปัญญาวชิรโมลี ประมาณ 5 นาที-นำเสนอโครงการศรีแสงธรรมโมเดล ประมาณ 5 นาที-เยี่ยมชมระบบสมาร์ทกริดศรีแสงธรรม ERC Sandbox ประมาณ 5 นาที-พบปะคณะครูและนักเรียนใต้อาคารเรียนประมาณ 10 นาที-นั่งรถยนต์เข้าไปในวัดป่าศรีแสงธรรมประมาณ 3 นาที / จุดที่ 2 วัดป่าศรีแสงธรรม และศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา 15 ไร่ ระดับตำบล กราบพระประธานบนศาลาวัดป่าศรีแสงธรรม-พบปะกับเครือข่ายโคก หนอง นา ของวัดป่าศรีแสงธรรม และจิตอาสาพัฒนาชุมชนประมาณ 10 นาที-ร่วมเอามื้อสามัคคีกิจกรรมปลูกป่าเพอร์มาคัลเจอร์ ทำหลุม ปลูกป่า ห่มดิน ให้ปุ๋ยแห้งปุ๋ยน้ำ 10 นาที-เดินชมฐานการเรียนรู้ คนติดดินการสร้างบ้านดินด้วยเทคนิคเอิร์ธแบก 10 นาที-เดินไปชมฐานการเรียนรู้ คนมีไฟ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ควบคุมการเปิดปิดด้วยระบบ IOT เพื่อรดน้ำต้นไม้ เป็น สมาร์ทฟาร์มในโคก หนอง นา ประมาณ 10 นาที-ปล่อยแหนแดง ปุ๋ยพืชสด เดินชมบริเวณโคก หนอง นา วัดป่าศรีแสงธรรม ประมาณ 10 นาที-นั่งรถยนต์มายังแปลงโครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (วัดป่าศรีแสงธรรม) 2 นาที / จุดที่ 3 โครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง วัดป่าศรีแสงธรรม-นายกรัฐมนตรีและคณะลงรถยนต์ที่ศาลาพระราชทาน รถไปจอดที่ลานตรงป้ายด้านหน้า-ปลูกต้นไม้บริเวณรอบศาลาพระราชทาน ประมาณ 5 นาที-เดินชมแปลงนา กล้าต้นเดียว ฐานคนรักษ์แม่โพสพ ไปถึงที่จอดรถประมาณ 5 นาที-ถ่ายภาพร่วมกันที่ป้ายโครงการพระราชทานฯ ก่อนเดินทางต่อไปยังเขื่อนสิรินธร และอำเภอวารินชำราบ ตามลำดับ
ขณะที่ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “วัดป่าศรีแสงธรรม หรือ โคกอีโด่ยวัลเลย์ ตั้งอยู่ที่ บ้านดงดิบ หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม ถือเป็นจุดที่ กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ใช้เป็นสถานที่ดำเนินการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา รวมทั้งสิ้น 11 รุ่น และเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) พื้นที่ 15 ไร่ นอกจากนั้น ยังได้นำข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี กว่า 160 ชีวิต มาร่วมกันดำเนินกิจกรรมจิตอาสาเอามื้อสามัคคี ขุดหลุมปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกต้นไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตลอดจนห่มฟางบำรุงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าเยี่ยมชนนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา”
นอกจากนั้น เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ได้เมตตาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ขอเจริญพรและอนุโมทนา แด่ทุกท่าน ที่ได้มาร่วมกันเตรียมความพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาเยือนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในวันพรุ่งนี้ วัดป่าศรีแสงธรรม ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณโครงการ พระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทางวัดได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์อบรมประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ของกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการที่จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 11 รุ่น ๆ ละ 100 คน ระยะเวลาการอบรม 4 วัน 5 คืน ซึ่งกิจกรรมการอบรมคณะครูของโรงเรียนทั้งหมดจะเป็นวิทยากร และมีนักเรียนเป็นผู้ช่วยวิทยากร ในช่วงที่ไม่มีการอบรม ทางโรงเรียนก็จัดให้มีการเรียนการสอนเป็นชุมชุมฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน และได้บูรณาการเข้าใน 8 กลุ่มสาระวิชาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น กระทั่งล่าสุดได้ขุดแปลง “โคก หนอง นา พช.” แปลง CLM อีก 15 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน และทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 อำนาจเจริญ ใช้เวลาขุด 10 วัน และมีงบประมาณสนับสนุนจ้างแรงงานมาช่วยในแปลงอีก 8 คน เป็นเวลา 3 เดือน จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาแบบร่วมมือกัน “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ”