พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยราษฎร ที่ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
โดยในวันนี้ (30 ก.ย. 64) เวลา 09.45 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี ไปประชุมและติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์ ทั้งนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการป้องกันและแก้ไขการเกิดภัยธรรมชาติ ไปกล่าวในที่ประชุม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำไปแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์
ต่อจากนั้น มีการจัดพิธีรับมอบถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 2,000 ถุง เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี และคณะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญไปมอบให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอต่าง ๆ เป็นตัวแทนรับมอบโอกาสนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงห่วงใย ไปกล่าวแก่ตัวแทนราษฎรที่ประสบอุทกภัย ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยและได้รับผลกระทบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ ให้รับทราบ จากนั้น องคมนตรี ได้ลงพื้นที่ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยซึ่งเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลบางหลวงโดด อำเภอหักไห่ จำนวน 5 ครอบครัว และพื้นที่ตำบลกุฎี อำเภอบางบาล จำนวน 5 ครอบครัว ตลอดจนพูดคุยให้กำลังใจ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แบ่งการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ 209 ตำบล ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในห้วงวันที่ 1 – 10 กันยายน 2564 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “โกนเซิน” และในวันที่ 24 กันยายน 2564 พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของแม่เจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำฝนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้น 2,749 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับมีแม่น้ำถึง 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ไหลผ่าน และมีคลองธรรมชาติอีก 437 คลอง อยู่ในพื้นที่ และในบางพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำและรับน้ำในฤดูน้ำหลาก จึงทำให้บ้านเรือนราษฎร พื้นที่ทางการเกษตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง คลองบางบาล ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำชลประทานถูกน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บ้านเรือนราษฎร สิ่งสาธารณประโยชน์ ถนน สถานที่ราชการ ได้รับความเสียหายและผลกระทบ ใน 6 อำเภอ 72 ตำบล 445 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบ 15,686 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว เหลือในบางพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่รับน้ำยังคงถูกน้ำท่วม
ทั้งนี้ นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กำชับให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กร มูลนิธิ และจิตอาสาพระราชทาน เร่งระดมให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน กับเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อม เครื่องมือ เครื่องจักร ยานพาหนะ สำหรับเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันการณ์ พร้อมทั้งให้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ต่อไป