“น้ำบาดาล – ธ.ก.ส.” ขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือตาม MOU ปี 2565 วางเป้าหมายต่อยอด 1,414 แห่ง ที่ใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมประชุมขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือตาม MOU วางเป้าหมายต่อยอดช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 1,414 แห่ง มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเป็นต้นแบบ มีองค์ความรู้ และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน โดยมี รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นประธานการประชุม และนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมด้วยผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

จากการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วย “การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้น้ำบาดาลเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” เพื่อร่วมจัดหาน้ำต้นทุนและยกระดับกลุ่มเกษตรกรจากกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นกลุ่มผู้ผลิตและนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้การสนับสนุนจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ในการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูกพืช ส่วน ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนเกษตรกรทั้งในด้านเงินทุนและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินและแผนธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร

รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่ได้มีโอกาสนำกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ ธ.ก.ส. มาทำงานร่วมกัน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังจากมีการลงนามใน MOU ตั้งแต่ปี 2563 ทั้งสองหน่วยงานต่างก็ประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดีทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ วันนี้จึงได้เรียนเชิญผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานมาร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางการดำเนินงานในปีต่อไป ก่อนที่จะครบระยะเวลา 3 ปี ตามที่กำหนดใน MOU เพื่อให้ได้ต้นแบบ ธนาคารองค์ความรู้ และสร้างความยั่งยืน แก่ประชาชนและเกษตรกรต่อไป นปู

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องน้ำใต้ดิน และมีพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ที่ใช้กำกับควบคุมการประกอบกิจการน้ำบาดาลให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งในอดีตกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้มีการจัดหาน้ำบาดาล แต่ยังขาดการต่อยอดการปลูกผลผลิตเพื่อความยั่งยืน เช่น การนำน้ำบาดาลไปใช้เพื่อการเกษตร ประชาชนอาจจะไม่มีแหล่งเงินทุนที่จะนำน้ำบาดาลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น ท่านอาจารย์วิโรจจึงแนะนำให้เชิญ ธ.ก.ส. มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนเงินทุนและด้านวิชาการให้เกษตรกรสามารถ นำน้ำบาดาลไปใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2563 ธ.ก.ส. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีเป้าหมายในการต่อยอดโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรตาม MOU ในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,414 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 520 แห่ง คงเหลือที่จะดำเนินการต่อในปี 2565 อีกจำนวน 894 แห่ง

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการบริหาร จัดการน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้เกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้ และสร้างผลผลิตทางการเกษตร ที่ผ่านมาการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคบ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม ธ.ก.ส. ก็ยังมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือตาม MOU ต่อเนื่องต่อไป โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบเพิ่มเติม คือ คน (People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology) โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อทำให้ประชาชนรู้ รักษ์ และใช้ประโยชน์ รวมถึงบริหารจัดการน้ำบาดาลได้อย่างยั่งยืน

—————————————–