ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. ศาตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตาม 5 แผนงานการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ Covid-19 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 49/2564 โดยมีนางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือ ศบค.ยธ. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายกฤช กระแสร์ทิพย์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พันตำรวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ร่วมกับผู้บัญชาการเรือนจำในจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน มีรายงานการแพร่ระบาดเพิ่ม 1 แห่ง คือ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้มีเรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาดลดลงอยู่ที่ 111 แห่ง เรือนจำสีแดงที่พบการระบาดเพิ่มเป็น 23 แห่ง และสิ้นสุดการระบาดแล้ว 8 แห่งคงเดิม โดยในวันนี้ มีผู้ติดเชื้อที่รักษาหายเพิ่ม 122 ราย รวมหายสะสม 37,765 ราย หรือ 83% ของผู้ติดเชื้อสะสม 45,488 ราย และเสียชีวิต 2 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 57 ราย คิดเป็นอัตรา 0.1% ทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ทั้งหมดอยู่ที่ 7,209 ราย แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว 82% สีเหลือง 17.5% และสีแดง 0.5%
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เป็นผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางสมุทรปราการ และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเป็นผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัว และอาการอื่นร่วม ทำให้มีความรุนแรงของโรคมากกว่าปกติ แม้จะได้ให้ยาและดูแลรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพตามมาตรฐานโดยทีมแพทย์ แต่อาการยังคงไม่ดีขึ้น จนกระทั่งเสียชีวิตลงในที่สุด ทั้งนี้ ได้ประสานญาติเพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตามวิธีการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ภาพรวมสถานการณ์ พบว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครดีขึ้น ส่วนพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัดยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพบในเรือนจำแพร่ระบาดเดิมจากการเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก และการเอกซเรย์คัดแยกผู้ป่วยเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็ว โดยผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดง จะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ รวมถึงยาอื่นๆ และการรักษาตามอาการ ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ รวมถึงผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะพิจารณาจ่ายยาฟ้าทะลายโจรภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ซึ่งพบว่ามีประสิทธิผล สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ดี และได้กำชับให้ทุกเรือนจำและทัณฑสถานเร่งจัดหายาฟ้าทะลายโจร เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่เกิดการระบาดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ได้มอบนโยบายผ่านการประชุม ศบค.ยธ. ด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถานในช่วงเช้าวันนี้ พร้อมเน้นย้ำการป้องกันเชื้อและดูแลรักษาผู้ต้องขังที่ติดเชื้อทุกราย ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างดีที่สุด
นอกจากนี้ นายวัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค.ยธ. โดยท่านปลัดกระทรวงยุติธรรม ประธานการประชุมในวันนี้ ยังได้เน้นย้ำแนวทางการป้องกันเชื้อที่จะแพร่เข้าสู่เรือนจำและทัณฑสถานผ่าน 3 ช่องทาง คือ
1. จากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องเคร่งครัดการดูแลตัวเองและตรวจหาเชื้อพร้อมยืนยันผลว่าไม่พบเชื้อก่อนเข้าทำงานทุกครั้ง
2. ผู้ต้องขังรับใหม่จากภายนอก ต้องตรวจหาเชื้อและกักตัวอย่างน้อย 21 วัน
3.จากสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงพื้นที่ภายในเรือนจำ จะต้องฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอ พร้อมกำชับแนวทางการปล่อยตัวผู้ต้องขังตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564 ให้ดำเนินการตามมาตรการตรวจหาเชื้อและกักโรคที่วางไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อออกสู่ภายนอก
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2564 ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ขณะที่ผู้ติดเชื้อสะสมมีจำนวน 40 ราย เป็นเยาวชน 31 ราย เเละเจ้าหน้าที่ 9 ราย ด้านผลการดำเนินงานสถานพินิจฯ/ศูนย์ฝึกและอบรมฯ สีขาว มีจำนวน 44 แห่ง หรือคิดเป็น 80% จากทั้งหมด 56 แห่ง อีก 12 แห่ง อยู่ระหว่างการรอตรวจและรอผล 6 แห่ง หมดสถานะสีขาว 1 แห่ง และติดเชื้อ 5 แห่ง สถิติการฉีดวัคซีนของเด็กและเยาวชน คงที่ 121 ราย หรือคิดเป็น 2.8% จากทั้งหมด 4,280 ราย และเจ้าหน้าที่ได้รับการฉีดวัคซีนคงที่ 3,791 ราย หรือคิดเป็น 86% จากทั้งหมด 4,396 ราย
*****************************
29 กรกฎาคม 2564