สคบ. หารือแนวทางแก้ไขปัญหาการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และการให้บริการขนส่งสินค้า

ด้วยนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบัน สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากจากกรณีสั่งซื้อสินค้าแล้วเกิดปัญหาไม่ได้รับสินค้า สินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามคำสั่งซื้อ สินค้าไม่มีคุณภาพตามที่เสนอขาย และการสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน Line Instagramและ Facebook โดยเลือกวิธีชำระเงินปลายทาง เมื่อสินค้ามีปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถติดต่อขอคืนสินค้าหรือขอคืนเงินจากผู้ขายสินค้าได้ เนื่องจากไม่มี ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ขายสินค้า

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้จัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา การสั่งซื้อสินค้าและการให้บริการขนส่งสินค้า ในวันนี้ (๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔) เวลา ๑๓.๐๐ น. โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์) เป็นประธาน ณ ห้องประชุม ๕ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงและผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑. ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง จำนวน  ๘  บริษัท ได้แก่

๑) บริษัท ลาซาด้า จำกัด

๒) บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด

๓) บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด

๔) บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด

๕) บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด

๖) บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด

๗) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด

๘) บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)

๒. ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า  จำนวน  ๒  บริษัท ได้แก่

๑) บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

๒) บริษัท แฟลซ เอ็กซ์เพรส จำกัด

ซึ่งจากการประชุมหารือได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

๑. ขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองผู้ขายสินค้า (ร้านค้า) ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และติดตามสอดส่องการโฆษณาหรือการสื่อสารข้อมูลที่จะเป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา รวมถึงเพิ่มช่องทางการติดต่อระหว่างเจ้าของแพลตฟอร์มและผู้ขายสินค้า (ร้านค้า) ให้สามารถติดต่อประสานงานได้อย่างรวดเร็ว

๒. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงสิทธิของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เกี่ยวกับการคืนสินค้า โดยผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้ภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ และผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจะต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อการซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ภายใน ๑๕ วัน
นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

๓. ขอความร่วมมือผู้ให้บริการขนส่งสินค้า เพิ่มความเข้มงวดและตรวจสอบข้อมูลของผู้ส่งสินค้าให้ครบถ้วน โดยจะต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ – สกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ของผู้ส่งสินค้าให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดต่อได้ และให้ศึกษาแนวทางในการให้สิทธิแก่ผู้บริโภคสามารถแกะกล่องพัสดุ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบสินค้าว่าได้รับสินค้าครบถ้วนถูกต้องตามที่สั่งซื้อหรือไม่ ก่อนที่ผู้บริโภคจะชำระเงิน

ทั้งนี้ ผู้แทนของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงและผู้ให้บริการขนส่งสินค้า จะนำข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้ไปหารือกับผู้บริหาร อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับมาตรการทางกฎหมาย สคบ. ได้ศึกษาแนวทางในการกำหนดข้อความในการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เพื่อยกร่างกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๘แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาการสื่อสารข้อมูลในการเสนอขายสินค้าบนสื่อโฆษณา

ท้ายนี้ สคบ. ขอฝากความห่วงใยไปยังผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ ให้เลือกซื้อกับผู้ประกอบธุรกิจหรือแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และจดทะเบียน กับ สคบ. รวมถึง ดูข้อมูลรีวิวต่างๆ ของร้านค้า และตัวสินค้าให้ครบถ้วน ประกอบกับข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดส่ง การรับประกันให้รอบคอบ และเมื่อได้รับสินค้าหรือบริการแล้ว ให้ตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน หรือเอกสารการซื้อขาย และให้เก็บรักษาใบเสร็จหรือเอกสารการซื้อขายไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรักษาสิทธิของตนเองต่อไป