กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง พิจารณาแนวทางแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุของการเดินรถขนส่งทางราง

กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุของการเดินรถขนส่งทางราง จากกรณีอุบัติเหตุรถไฟฟ้าสองขบวนชนกัน บนเส้นทางในระบบ Kelana Jaya Light Rail Transit (LRT)

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 โดยเกิดขึ้นใกล้กับสถานี KLCC กลางเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเกิดจากการที่รถไฟฟ้าขบวน 40 มุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ไม่ถูกต้อง และชนกับรถไฟฟ้าขบวน 81 ที่ออกจากสถานี KLCC โดยมีผู้โดยสารกว่า 200 ชีวิตอยู่ภายในรถ โดยรถไฟฟ้าขบวน 40 เป็นขบวนรถไม่ได้ให้บริการเนื่องจากเกิดปัญหาทางด้านเทคนิค จากการที่ระบบอุปกรณ์บนตัวรถที่ใช้สำหรับสื่อสารกับศูนย์ควบคุมกลาง (Vehicle Onboard Communication : VOBC) ที่ติดตั้งบนขบวนรถทั้งสองตัวไม่ทำงาน โดยปกติแล้วขบวนรถดังกล่าวควรจะเคลื่อนที่กลับไปทำการซ่อมบำรุงที่อู่จอดรถไฟฟ้าด้วยระบบการเดินรถอัตโนมัติ (ATO mode)

แต่เนื่องจากระบบสื่อสารระหว่างขบวนรถกับศูนย์ควบคุมการเดินรถมีปัญหา ทำให้ขบวนรถหยุดอยู่ที่สถานี Kampung Baru แต่จากการละเลยขั้นตอนสำคัญซึ่งเรียกว่า มาตรฐานการปฏิบัติงาน Standard Operation Procedures (SOPs) ของเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมการเดินรถที่จะต้องนำรถไฟฟ้าขบวน 40 ขับเคลื่อนด้วย Manual Mode เคลื่อนที่ไปฝั่ง South เพื่อมุ่งหน้าไปยังอู่จอดรถไฟฟ้าตามที่ตั้งใจ แต่กลับเคลื่อนที่อยู่บนฝั่ง North มุ่งหน้าไปยังสถานี KLCC และรถไฟฟ้าขบวน 81 ซึ่งให้บริการผู้โดยสารอยู่ ถูกปล่อยให้เคลื่อนที่ออกจากสถานี KLCC โดยไม่ได้รับการยืนยันว่ารถไฟฟ้าขบวน 40 ได้ทำการ reset ระบบกลับเป็น ATO mode เรียบร้อยแล้ว
จึงเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาขั้นตอนสำคัญในมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOPs) จากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุของการเดินรถขนส่งทางรางในระบบรถไฟฟ้าในเมืองของผู้ให้บริการรถไฟ (railway operator) ซึ่งสรุปออกมาได้เป็น 4 แนวทางดังนี้

1.กรณีศูนย์ควบคุมการเดินรถไม่สามารถตรวจจับตำแหน่งรถไฟได้ ส่งผลให้ต้องเดินรถด้วยระบบ Manual เห็นควรพิจารณาเพิ่มพนักงานขับรถไฟเป็น 2 คน โดยให้พนักงานขับรถอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยใช้ความเร็วจำกัดในการเดินรถไฟ เว้นแต่ระบบ ATP ยังสามารถทำงานได้ หรือมีมาตรการอื่นที่ปลอดภัยสำหรับป้องกันการเดินรถผิดทิศทาง

2.ทบทวนและฝึกซ้อมการดำเนินการควบคุมมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน (SOPs) ทั้งหมดในสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ผิดปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน

3.ประเมินและตรวจสอบความเสี่ยงของอุปกรณ์สื่อสารระหว่างคนขับและศูนย์ควบคุมกลาง

4.ตรวจประเมินระบบตรวจจับตำแหน่งรถไฟ เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะตรวจพบและแสดงตำแหน่งรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือต่อไป

***********************************************

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มประชาสัมพันธ์
กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
โทรศัพท์ 0 2164 2607

ภาพ : https://www.aljazeera.com/news/2021/5/24/over-200-injured-when-two-trains-collide-in-malaysian-capital