นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย ในการดำเนินงานแก่สถาบันการบินพลเรือน โดยมี พลอากาศเอกเผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว ประธานกรรมการสถาบัน การบินพลเรือน นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมร่วมสักการะพระพุทธะจัตตาฬีสะมงคล พระพุทธรูปประจำสถาบันการบินพลเรือน หลังจากนั้นได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปภารกิจ ผลการดำเนินงานโครงการสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคของสถาบันการบินพลเรือน พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการเรียนการสอนประจำกองวิชาต่างๆ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ณ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ
โดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในฐานะที่ สถาบันการบินพลเรือน เป็นสถาบันเฉพาะทางด้านการบินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) นั้น สถาบันการบินพลเรือน ควรเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน เน้นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ โดยอาศัยความร่วมมือแลกเปลี่ยนทักษะความรู้ งานวิจัย ตลอดจนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี จากหน่วยงานในอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือด้านการบินให้กับประเทศไทย อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคในอนาคต ทั้งนี้ได้มอบนโยบายในการดำเนินงานแก่สถาบันการบินพลเรือน ตามแนวทางทั้ง 8 ด้าน ประกอบไปด้วย
1. กำหนดให้ สถาบันการบินพลเรือน เป็นสถาบันหลักในการกำหนดมาตรฐานการผลิตบุคลากรด้านการบินที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
2. ในฐานะที่ สถาบันการบินพลเรือน ได้ยกระดับเป็นสมาชิกเป็น Regional Training Center of Excellence (RTCE) โครงการ ICAO TRAINAIR PLUS โดยได้รับการรับรองสาขาความเชี่ยวชาญ ใน ๒ ด้าน ได้แก่ Air Navigation Services และ Flight Safety and Safety Management นั้น ให้ต่อยอดพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย
3. ยึดหลักการสำคัญ คือ “คุณภาพ “ ของหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงบุคลากรด้านการบิน ในด้านทักษะภาษาอังกฤษ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดทางด้านอุตสาหกรรมการบิน
4. พิจารณาเร่งรัดการพัฒนาศูนย์ฝึกการบิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในด้านอาคารสถานที่ หลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนบุคลากร ให้พร้อมรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต อย่างทันท่วงที
5. ให้ สถาบันการบินพลเรือน มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถภายใต้การแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน โดยคำนึงถึงการพัฒนารูปแบบนวัตกรรม และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการสนับสนุนองค์กร ในทุกด้าน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
6. บริหารจัดการด้านสินทรัพย์ขององค์กร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ในอนาคต
7. เน้นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของการผลิตบุคลากรด้านการบิน และผลงานวิจัยวิชาการด้านการบิน ให้โดดเด่น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
8. พิจารณาศึกษาทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน เหมาะสมกับเวลา โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนเกิดประโยชน์ต่อองค์กร ต่อไป
นอกเหนือจากนี้ กระทรวงคมนาคม มีความตระหนักและห่วงใยถึงอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ จึงได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน 3 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการด้านการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของสายการบินและผู้ประกอบการ ภายในท่าอากาศยาน ได้แก่ การปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าที่จอดอากาศยาน (Landing and Parking Fee) ในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ แก่เที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ และการปรับลดอัตราค่าเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (Credit Term) ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนที่สายการบินและผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน ผู้ให้บริการการเดินอากาศ และผู้ประกอบการจำหน่ายและให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน
2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศ ได้แก่ การออกประกาศรองรับสิทธิของสายการบินในการปฏิเสธผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ข้อแนะนำในการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์มาตรการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศ และการกำหนดแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารทางอากาศในระหว่างสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่ การคัดกรองผู้โดยสารในท่าอากาศยานที่อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสตามหลักการการบินสากล การจัดผังที่นั่งตามหลัก Social Distancing การกำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานต้องมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันส่วนบุคคล และการกำหนดให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นต้น
3. มาตรการการวางแผนฟื้นฟู เพื่อให้กิจการกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือสำหรับการกลับมาฟื้นตัวของกิจการ การปรับตัวให้เข้าสู่บริบททางธุรกิจรูปแบบใหม่ การเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการด้านสาธารณสุขในการให้บริการและเตรียมแผนงาน การลงทุนที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาค
ทั้งนี้ นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ได้กล่าวว่า สถาบันการบินพลเรือน ได้เตรียมมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ Covid-19 เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ โดย สถาบันการบินพลเรือน จัดมาตรการความปลอดภัยและการเยียวยาในสถานการณ์นี้ ดังนี้
1. มาตรการด้านการเรียนการสอน มีการพิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมในรายการค่าบำรุงการศึกษา เป็นจำนวนร้อยละ 50 ให้กับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีและหลักสูตรเทียบเท่าอนุปริญญา และลดเงินอุดหนุนวิชาการเป็นจำนวนร้อยละ 50 สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ไปจนถึงการยกเว้นค่าประกันของเสียหาย สำหรับนักศึกษากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ดำเนินการขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียม เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
2. มาตรการเฝ้าระวังการระบาดภายในพื้นที่สถาบันการบินพลเรือน มีการจัดหาเครื่องเทอร์มัลสแกนสำหรับ นักศึกษา พนักงาน และผู้มาติดต่อราชการ จุดบริการเจลล้างมือบริการ การทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อ อย่างต่อเนื่อง เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing ตลอดจนรณรงค์เรื่องการสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่พื้นที่โดยตลอดเวลา
โดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงเยาวชนที่สนใจทำงานในด้านอุตสาหกรรมการบิน ให้มีความมั่นใจว่าการที่จะเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันการบินพลเรือน จะเป็นที่ต้องการ ของตลาดในอุตสาหกรรมการบินอย่างแน่นอน เพราะเมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินที่จะค่อยๆ กลับสู่ปกติ ไปจนถึงความต้องการบุคลากรด้านการบินเป็นจำนวนมากในอนาคต นั้น สถาบันการบินพลเรือน ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินในอนาคตเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป