ครูโอ๊ะ เตรียมเสนอ “สพฐ. – คุรุสภา” ใช้โมเดล Perkins International School ประสานความร่วมมือส่งไฟล์หนังสือเรียนทุกรายวิชา นำมาผลิตหนังสือเบรลล์สอนผู้เรียนตาบอด หวังลดขั้นตอน-ต้นทุน ช่วยประหยัดเวลาสร้างสื่อได้รวดเร็วขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. และนายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. และผู้จัดการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา สำหรับคนพิการ สพฐ. เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และรับฟังความต้องการการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยมี นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายประสงค์ สุบรรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ พร้อมด้วยนางอรทัย ฐานะจาโร ประธานฝ่ายการศึกษาฯ นายธีรพงษ์ นิยมทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารฯ และคณะครู ให้การต้อนรับ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการเยี่ยมชมการเรียนการสอน สื่อ วิธีการเรียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ “ไลน์กลุ่ม” ตลอดจนแผนปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษา ที่ได้รับความร่วมมือจาก 3 สถาบัน ประกอบด้วย Aeress Foundation, Magic years International School และ Perkins International School เพื่อร่วมกันพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาคนตาบอด ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เหมือนคนปกติโดยทั่วไป โดยมีครูที่มีความรู้ความเข้าใจในความบกพร่อง มีสื่อการเรียนการสอนที่ดี และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสม

จึงถือได้ว่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพแห่งนี้ เป็นโรงเรียนที่เข้มแข็ง ภายใต้การดูแลและสนับสนุนของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ ทั้งยังแสวงหาความร่วมมือและทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการศึกษาของผู้เรียนที่ตาบอดได้รับการศึกษาถึงระดับปริญญา จึงขอชื่นชมหัวใจอันงดงามของประธานมูลนิธิ ฯ ผู้บริหาร กรรมการและคุณครูทุกคน ที่ช่วยดูแลลูกหลานที่บกพร่องทางสายตา ช่วยให้ผู้บกพร่องสามารถไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติที่สุด

“ครูโอ๊ะมาในครั้งนี้ เพราะต้องการที่จะรับฟังและสอบถามถึงความต้องการให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมและสนับสนุนด้านใด ซึ่งเบื้องต้นต้องการให้ผลักดันในเรื่องของเครื่องมือ เทคโนโลยีต่าง ๆ และการจัดทำสื่อหนังสือสำหรับนักเรียนตาบอด โดยเฉพาะข้อเสนอให้ทางสำนักพิมพ์จัดทำเป็นไฟล์เวิร์ด เพื่อให้โรงเรียนสอนคนตาบอด สามารถนำไปใช้ผลิตหนังสือเป็นอักษรเบรลล์ได้ทุกรายวิชา

เพราะที่ผ่านมา ทางโรงเรียนประสบปัญหาในการจัดทำหนังสือเรียน ที่ต้องนำหนังสือเป็นเล่มมาแปลงหลายขั้นตอน กว่าที่จะได้เป็นอักษรเบรลล์ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเรียนการสอน ทั้งใช้ต้นทุนและงบประมาณมาก จึงได้มอบให้ นายพะโยม ชิณวงศ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูแลในเรื่องนี้ พร้อมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในเบื้องต้น ที่จะร่วมกันหาทางออกเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน อาทิ การออกระเบียบ หรือเพิ่มคุณสมบัติ/เงื่อนไขให้โรงพิมพ์จัดทำไฟล์เวิร์ดหนังสือเรียนทุกรายวิชา จำนวน 1 ชุด ส่งให้กับ สพฐ. เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานหรือโรงเรียนที่ต้องการแปลงเป็นหนังสืออักษรเบรลล์ในวิชาต่าง ๆ ต่อไป พร้อมให้นำข้อคิดเห็นของประธานฝ่ายการศึกษาโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ที่เสนอเกี่ยวกับโมเดลของ Perkins International school ซึ่งได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันกับโรงเรียน ก็มีการส่งไฟล์มาให้เพื่อใช้ผลิตสื่อ หนังสือเรียน ภายใต้เงื่อนไขสัญญาร่วมกันที่จะไม่มีการเปิดเผยไฟล์นี้ต่อผู้อื่น ซึ่งถือเป็นอีกทางแก้ปัญหาที่จะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

ท้ายสุดนี้ ถือเป็นความโชคดีของเด็กไทยทุกคน ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ และโรงเรียนสอนคนตาบอด ที่มีความพร้อมทั้งด้านจุดแข็งและโอกาส ทั้งยังมี 3 องค์กร เข้ามาช่วยในการจัดการศึกษา ด้วยแนวทางการจัดระบบการศึกษาที่ดีในระดับโลก มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และทำการเรียนการสอนมากว่า 100 ปี ที่จะร่วมกันพัฒนาและการวางเป้าหมายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

จันทนา เชียงทอง, นวรัตน์ รามสูต : สรุป
สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
10/6/2564