วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีส่งมอบวัคซีน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน ล็อตแรก 60,000 โด๊ส เพื่อควบคุม ป้องกันการระบาดของโรคลัมปีสกิน และช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมด้วยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ บริเวณด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ระบาดในพื้นที่หลายจังหวัด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือเป็นอย่างมาก และกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค ทั้งได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเกษตรกรโดยพ่นยาฆ่าเชื้อ พ่นสารกำจัดแมลง ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต้องขอบคุณอธิบดีกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน จำนวน 60,000 โด๊ส เพื่อนำไปมอบแก่เกษตรกร พร้อมเวชภัณฑ์ยาและหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยเหลือตามความต้องการของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ระบาดในพื้นที่หลายจังหวัด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือเป็นจำนวนมากนั้น กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดใน 5 มาตรการ คือ
1) ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดน เช่น ด่านชายแดนพม่า พร้อมตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มงวด และเข้มข้น
2) เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว
3) ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรคให้เกษตรกรป้องกัน โดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง ด้วยการประสานด่านกักกันสัตว์ อบจ. อบต. ลงพื้นที่พ่นยาฆ่าแมลง และแจกยาฆ่าแมลง รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกัน
4) รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี
5) การใช้วัคซีนควบคุมโรค ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ที่ได้สั่งซื้อ จำนวน 60,000 โด๊ส ในวันนี้ และจะดำเนินการใช้วัคซีนเพื่อควบคุมโรคตามหลักวิชาการ จึงได้จัดพิธีส่งมอบวัคซีน พร้อมเวชภัณฑ์ยาและหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ณ บริเวณด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
“หากประชาชน เกษตรกร มีข้อสงสัยหรือต้องการรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ข้อมูล : สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์
ข่าว : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ