กาชาดถือกำเนิดขึ้นมาจากความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา เพื่อป้องกันและบรรเทาทุกข์ของมนุษย์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของทุกคน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุนความเป็นมิตรภาพและความร่วมมือ รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพระหว่างประชากรทั้งมวล
วันที่ 8 พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันกาชาดสากล หรือวันกาชาดโลก ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของนายอังรี ดูนังต์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การก่อตั้งสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศทั่วโลก โดยดำเนินการตามหลักการกาชาด 7 ประการ อันได้แก่ มนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร ความเป็นเอกภาพ และความเป็นสากล ในวันนี้ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกกาชาดจะพร้อมใจกันจัดกิจกรรมขึ้น เพื่อแสดงความรำลึกถึง นายอังรี ดูนังต์ ผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างของนักมนุษยธรรมที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีสภากาชาดไทยเป็นสมาชิกของสหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ซึ่งสภากาชาดไทย ถือเป็นองค์กรสาธารณกุศลระดับชาติที่ดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม ตามหลักการกาชาดสากล โดยหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญสภากาชาดไทย ก็คือ การบริการโลหิต โดยมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุด จากผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ
ในช่วงนี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้บริจาคโลหิตลดน้อยลง ทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเกิดการขาดแคลนโลหิตเป็นอย่างมาก สสส. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญชวนให้คนไทยผู้มีสุขภาพแข็งแรง ร่วมกันบริจาคโลหิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมทำให้ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย ยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในสถานการณ์เช่นนี้
หากคุณมีสุขภาพแข็งแรง และสนใจร่วมบริจาคโลหิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และร่วมกันพาสังคมไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ
การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต
1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง
2.สุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะบริจาคโลหิต งดบริจาคเมื่อรู้สึกไม่สบาย
3.หากอยู่ระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์/พยาบาล ผู้ตรวจคัดกรองสุขภาพทุกครั้ง
4.ดื่มน้ำ 3 – 4 แก้ว ก่อนบริจาคโลหิต ช่วยลดโอกาสการเป็นลมหลังการบริจาคโลหิต
5.ทานอาหารประจำมื้อก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงกะทิ ขนมหวาน ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง
6.งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง
7.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง
ข้อควรปฏิบัติหลังบริจาคโลหิต
1.นอนพักที่เตียง 5 นาที หากไม่มีอาการผิดปกติ จึงลุกจากเตียง และไปนั่งพัก 10 -15 นาที พร้อมดื่มเครื่องดื่ม และรับประทานอาหารว่าง
2.ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
3.รับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก วันละ 1 เม็ด หลังอาหารจนหมด เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ
4.หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงที่สูง อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้
5.หลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่บริจาคโลหิต เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
6.หลีกเลี่ยงการเดินไปในบริเวณที่แออัด และมีอากาศร้อนอบอ้าว
7.งดกิจกรรมหรือทำงานที่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ความเร็ว ความสูง ความลึก เครื่องจักรกล
8.งดออกกำลังกายที่ทำให้เสียเหงื่อ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
“เลือด”เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน ในเวลานี้เราสามารถทำสิ่งเล็ก ๆ เพื่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะการให้เลือด = ให้ชีวิต ให้โอกาสใครอีกหลายคนได้มีชีวิตต่อไป เพราะทุกนาทีมีค่า เมื่อเกิดความเจ็บป่วยขั้นวิกฤต ไม่ใช่ทุกชีวิตที่รอได้ พลังเล็กๆ เมื่อรวมกันจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่สร้างคุณค่าในแบบที่เราคาดไม่ถึง มาร่วมกันบริจาคโลหิต ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
จะเห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งก่อนการบริจาคโลหิต คือ ต้องมีสุขภาพแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงงดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ สสส.สนับสนุนและส่งเสริมมาโดยตลอด เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรม อย่างกลุ่มโรคNCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. อยากชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมมาร่วมลงมือทำด้วยกัน เนื่องจากหัวใจสำคัญของสุขภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมอ ยา หรือการแพทย์สมัยใหม่เป็นหลัก เพราะส่วนที่สำคัญคือพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือ Lifestyle ทั้งวิถีการกิน ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้คนลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ที่ผ่านมาคุณอาจจะพ่ายแพ้ให้กับอุปสรรคในการดูแลสุขภาพ ทำให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องยาก ขอเพียงเริ่มต้นลงมือทำอีกครั้ง จะแพ้กี่ครั้งไม่สำคัญเพราะเราชนะใจตัวเองใหม่ได้เสมอ
สสส.ได้รวบรวม 8 เรื่องพื้นฐานในวิถีชีวิตที่สามารถใช้เป็นคู่มือเริ่มต้นของทุกคน และคู่มือชีวิตดีเริ่มที่เรา 108 วิธีการสร้างสุขภาพ ที่รวมเรื่องราวเคล็ดลับการดูแลสุขภาพกาย ใจ ปัญญา และสังคม ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงวัยผู้สูงอายุสามารถดาวน์โหลดได้ที่…http://ssss.network/p84x7 และ http://ssss.network/0sskr
หากเรารักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งใช้ชีวิตตามหลัก New Normal สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เดินทางเท่าที่จำเป็น และงดเดินทางไปยังที่แออัดหรือพื้นที่เสี่ยง เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตอันยากลำบากนี้ไปได้