ตามที่ปรากฎข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ซึ่งมีการนำเสนอข่าวในประเด็น “เขื่อนชายฝั่งสงขลา 130 กว่าล้านบาท พังเสียหายแล้ว” กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณตำบล ท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ได้นำเสนอรูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ดังกล่าวให้กับกรมเจ้าท่า 3 รูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ การใช้ประโยชน์ชายหาดและความต้องการของชุมชน โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ดังนี้
1. จุดที่ 1 บริเวณที่เกิดการกัดเซาะรุนแรง ไม่มีบ้านเรือนประชาชนใกล้ชายฝั่งมาก จึงออกแบบเป็นเขื่อนหินทิ้ง revetments ความยาว 360 เมตร
2. จุดที่ 2 พื้นที่หน้าวัดอู่ตะเภา มีความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และประชาชนต้องการเดินผ่านเขื่อนขึ้นลงชายหาดได้ ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้เขื่อนหินที่มีวัสดุขนาดเล็กลงโดยใช้น้ำยาเชื่อมประสานจึงทำให้ไม่มีช่องว่างระหว่างหิน ประชาชนสามารถเดินขึ้นลงชายหาดได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ความยาว 195 เมตร และรูปแบบเขื่อนที่เลือกใช้มีราคาไม่แพงไปกว่าเขื่อนที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะดังกล่าวที่ใช้กันโดยทั่วไป
3. จุดที่ 3 เป็นบริเวณชุมชนและหมู่บ้านประมง ที่มีการใช้เรือเข้า-ออก เรือ จึงออกแบบเป็นเขื่อนตอกเสาเข็มสันเตี้ย เว้นช่องเรือเข้า – ออก ตามความเหมาะสม โดยเขื่อนมีความยาว 5,345 เมตร
การก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กรมเจ้าท่า ได้มีการแต่งตั้งผู้ควบคุมงาน เพื่อควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และถูกต้องตามรูปแบบก่อสร้างและรายการประกอบแบบในสัญญาจ้างทุกประการ และจากการตรวจสอบความเสียหาย พบว่าอยู่ในพื้นที่จุดที่ 2 บริเวณหน้าวัดอู่ตะเภา เบื้องต้น สันนิษฐานได้ว่า ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมา ช่วงระหว่างเดือน พ.ย. 63 – ก.พ. 64 เกิดพายุคลื่นลมแรง ความกดอากาศแปรปรวนส่งผลให้ระดับน้ำทะเลยกตัวขึ้นสูงกว่าปกติ
โดยเห็นได้จากภาพข่าวคลื่นลมกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลาในสื่อสารมวลชนทั่วไปในช่วงเวลานั้น อีกทั้งจะเห็นได้จากการที่วัดอู่ตะเภาที่อยู่ด้านหลังกำแพง เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลไหลเข้าท่วม ระดับน้ำยกตัวสูงกว่าปกติดังกล่าว ส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่เคลื่อนตัวเข้ากระแทกกับกำแพงหิน และสร้างความปั่นป่วนต่อพื้นท้องทะเลบริเวณฐานของกำแพงเกิดการกัดเซาะบริเวณฐานเขื่อน (Scouring) ทำให้ฐานของกำแพงหินเกิดการเคลื่อนตัวตามกันไป จนเกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ การแก้ไข ผู้รับจ้างอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบที่ที่ปรึกษาให้คำแนะนำเพิ่ม โดยเพิ่มขนาดของหินใหญ่ในตัวโครงสร้าง เพื่อให้สามารถป้องกันการกัดเซาะ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564
_____________________________
26 เมษายน 2564
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
โทรศัพท์ 02-233-1311-3 ต่อ 285
E-Mail : Pr@md.go.th