“วราวุธ” ติดตามผลสำเร็จบ่อน้ำพุโซดาห้วยกระเจา ย้ำ! ขอให้ใช้น้ำรู้ค่า

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำทีมลงพื้นที่ ห้วยกระเจา ติดตามความก้าวหน้าโครงการน้ำพุโซดา ย้ำขอให้ใช้น้ำอย่ารู้คุณค่า ขณะที่กรมทรัพยากร น้ำบาดาลเดินหน้าโครงการระยะ 2 สร้างแหล่งน้ำให้ประชาชนอีก 15 หมู่บ้านได้ใช้ทั้งอุปโภคบริโภค และการเกษตร

วันที่ 23 เมษายน 2564 ที่บ้านทุ่งคูณ หมู่ที่ 19 ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหาร ทส. เดินทางไปตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษา สำรวจ และรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึก ในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน โดยมี นายสวัสดิ์ อั้นเต้ง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมให้การต้อนรับ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การเดินทางมาที่อำเภอห้วยกระเจาในครั้งนี้ เพื่อมาติดตามการดำเนินงานโครงการว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามเป้าหมาย แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการใช้น้ำกันอย่างประหยัด ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ใช้น้ำตามความจำเป็นและเกิดความยั่งยืน

“น้ำบาดาลเป็นเสมือนกระปุกออมสินที่คนรุ่นปู่ย่าตาทวดนั้นเก็บเอาไว้ให้ และวันนี้มีความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำ ต้องนำน้ำบาดาลมาใช้เท่ากับเป็นการทุบกระปุกออมสิน ดังนั้น จึงต้องมีการบริหารจัดการ แหล่งน้ำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะน้ำบาดาลที่มีนั้น เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการทำการเกษตรบางชนิดเท่านั้น เช่น การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยใช้วิธีการให้น้ำแบบประหยัด ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จ เช่น ในภาคอีสาน แต่หากนำน้ำบาดาลที่มีไปใช้กับพืชไร่ เช่น การทำไร่อ้อย อาจจะทำให้มีปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอ ดังนั้นการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญว่า จะนำไปใช้กับการเกษตรอย่างไร ซึ่งต้องขอให้ทางจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการตัดสินใจ”

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลว่า สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการศึกษา สำรวจ และรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึก ในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน ระยะที่ 1 ขณะนี้ได้สิ้นสุดโครงการและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยการเจาะสำรวจบ่อ น้ำบาดาลใน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านพยอมงาม หมู่ที่ 12 มีประชาชนได้ประโยชน์ 7 หมู่บ้าน จำนวน 2,369 คน หรือ 709 ครัวเรือน และบ้านทุ่งคูณ หมู่ที่ 19 มีประชาชนได้รับประโยชน์ 9 หมู่บ้าน จำนวน 4,989 คน หรือ 2,015 ครัวเรือน สามารถผลิตน้ำมาใช้ประโยชน์ได้กว่า 170,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

อีกทั้งยังได้เกิดประโยชน์ในเชิงการท่องเที่ยว เช่น บ่อบาดาล ที่บ้านทุ่งคูณ หมู่ 19 ที่เจาะพบว่า เป็นน้ำที่มีความซ่าคล้ายโซดา มีแร่ธาตุสูง สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำแร่ดื่มได้ แต่เนื่องด้วยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีเป้าหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาและช่วยให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจามีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน จึงกำหนดแผนดำเนิน โครงการในระยะที่ 2 ขึ้น เพื่อพัฒนารูปแบบระบบประปาบาดาลที่เหมาะสมกับสภาพอุทกธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจาไม่น้อยกว่า 15 หมู่บ้าน ได้รับน้ำสะอาดจากระบบประปาอย่างทั่วถึง