กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจอนามัยโพลล่าสุด พบประชาชน ร้อยละ 77 มีการป้องกันตนเองจาก PM2.5 ลดการก่อฝุ่นด้วยการไม่เผาขยะ กระดาษ และจุดธูป
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนนี้จนถึงเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสูง เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งและภาวะลมสงบ ซึ่งฝุ่นที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการจราจร การเผาไหม้ที่ไม่สามารถกระจายตัวและสะสมในปริมาณเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าวันนี้ถึงวันที่ 29 ธันวาคมนี้ ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงานกวาดถนน คนขับรถรับจ้าง ทั้งรถจักรยานยนต์ และรถสามล้อ พนักงานส่งอาหาร และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง จึงต้องดูแลและป้องกันสุขภาพตนเอง ลดระยะเวลาการอยู่นอกอาคาร หากออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ปราศจากฝุ่น ซึ่งผลสำรวจอนามัยโพล เรื่อง ผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 จำนวน 1,111 คน วันที่ 14 – 24 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีการป้องกันตนเองจาก PM2.5 โดยการไม่เผาขยะ กระดาษ และจุดธูปมากที่สุด ร้อยละ 77.5 รองลงมา คือ สวมหน้ากากอนามัยและ N95 ร้อยละ 68.7 งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ร้อยละ 61.3 ปิดประตูหน้าต่าง ร้อยละ 58.8 และตรวจเช็คสภาพอากาศก่อนออกนอกบ้าน ร้อยละ 31.3
“ขณะนี้ กรมอนามัยได้ยกระดับในการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ(ศกพ.ส.) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งภายใต้ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ) มีหน้าที่ในการเฝ้าระวัง สื่อสารข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งการเจ็บป่วย พฤติกรรม ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปประเมินอาการเบื้องต้นได้ที่ “เฟซบุ๊ก กรมอนามัยและ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” หัวข้อ “แบบสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” และติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือ แอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ หากพบเห็นการกระทำที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สามารถร้องเรียนมาได้ที่ไลน์ ‘อาสาสู้ฝุ่น’ อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
………………………………………………………………
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / ธันวาคม 2563