เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ได้เผยแพร่รายงานการเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Counterfeit and Piracy Watch List) ที่ระบุตลาดและเว็บไซต์ของประเทศนอกสหภาพยุโรปที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากว่า 30 ประเทศ โดยรายงานฯ ได้ชื่นชมการริเริ่มจัดทำร่าง MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตกับผู้มีส่วนได้เสียของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และการมีส่วนร่วมของเว็บไซต์ Lazada ในกระบวนการจัดทำร่าง MOU และแสดงเจตนารมณ์ที่จะลงนามใน MOU เมื่อการจัดทำเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงการที่ Lazada มีนโยบายและมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลให้รายงานฯ มีการถอดเว็บไซต์ Lazada ออกจากตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากที่เคยมีการระบุไว้ในรายงานฯ เมื่อปี 2561
แม้รายงานฯ ของ EC จะเป็นไปในเชิงบวก แต่ก็ยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในบางท้องตลาดและบางเว็บไซต์ในไทย ในส่วนนี้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมฯ ให้ความสำคัญและดำเนินการด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยในส่วนของท้องตลาด แม้ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะมีจำนวนน้อยลงหรือไม่มีปรากฏแล้วในบางตลาด กรมฯ ก็ยังมีแผนการทำงานในเชิงรุก โดยจะประสานหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าละเมิดในย่านการค้าต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการนำสินค้าละเมิดกลับมาจำหน่ายอีก
ในส่วนของการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนเว็บไซต์ต่างๆ กรมฯ มีความยินดีที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำร่าง MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตที่กรมฯ ได้ริเริ่มดำเนินการ จนนำไปสู่การพิจารณาถอด Lazada ออกจากรายงานการเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยหลังจากนี้ กรมฯ ได้กำหนดจัดพิธีลงนาม MOU ในวันที่ 11 มกราคม 2564 ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยขณะนี้มีพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมลงนามหลายราย เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และแพล็ตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ชั้นนำของประเทศและภูมิภาค 3 ราย ได้แก่ Lazada Shopee และ JD Central”
นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดทำรายงานการเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคณะกรรมาธิการยุโรปในอนาคตเป็นไปในเชิงบวกแก่ไทยมากยิ่งขึ้น กรมฯ จะหารือร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำรายงานฯ วิธีการรวบรวมข้อมูล และสิ่งที่อาจดำเนินการ เพื่อให้ความก้าวหน้าด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยถูกสะท้อนอยู่ในรายงานฯ ที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำครั้งถัดไปในปี 2565 ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
นายวุฒิไกรฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรมฯ เชื่อมั่นว่า การทำงานด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงรุกทั้งในท้องตลาดและตลาดออนไลน์จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนในประเทศ ตลอดทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องมีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีการฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว”
………………………………………..