พม. หนุนเสริมชุมชนวิถีเกษตรบ้านโพธิ์ศรี สู่รางวัลระดับจังหวัด

“…ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ แรงหนุนเสริมรากฐานวิถีเกษตร ที่สำคัญสำหรับหมู่บ้านโพธิ์ศรี…” นี้คือ คำกล่าวจากใจของผู้นำกลุ่มเกษตรพอเพียงบ้านโพธิ์ศรี 312 (ชุมชนบ้านโพธิ์ศรี  หมู่ที่ 3 และ 12) ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ (นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา) ได้รับการขอบคุณ หลังจากที่ผู้นำกลุ่มทราบการประกาศผลคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตปลูกผักสวนครัว “สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างวัฒนธรรมปลูกผักประจำครัวเรือน” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยเน้น การพึ่งตนเองและสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ในระดับครัวเรือน ในช่วงสถานการณ์ไวรัส covid-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรง โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ จังหวัดสุพรรณบุรี

ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี ได้สนับสนุนการอบรมและฝึกทักษะอาชีพ ในชุมชน ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการสร้างชีวิตใหม่ให้แก่สตรีและครอบครัว (104 วัน) หลักสูตร : เศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรม (44 วัน) วันที่ 1 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2563 และรวมกลุ่มเพื่อฝึกปฏิบัติทักษะ (60 วัน) วันที่ 25 กรกฎาคม – 24 กันยายน 2563 สมาชิกเข้าร่วมอบรม จำนวน 30 คน ชื่อกลุ่มเกษตรพอเพียงบ้านโพธิ์ศรี 312

2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านทักษะอาชีพให้แก่สตรีและครอบครัวหลังโควิด-19 (หลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้น 30 ชั่วโมง) ประจำปีงบประมาณ 2563 หลักสูตร : การทำน้ำพริก ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 19 – 23 สิงหาคม 2563 สมาชิกเข้าร่วมอบรม จำนวน 25 คน ชื่อกลุ่มน้ำพริกโพธิ์ศรี

บ้านโพธิ์ศรี หมู่ที่ 3 และ หมู่ 12 ตำบลบางปลาม้า ปลูกผัก จำนวน 27 ชนิด  บ้านโพธิ์ศรี หมู่ 3 ปลูกผักคิดเป็นร้อยละ 93.01 ของครัวเรือน บ้านโพธิ์ศรีหมู่ 12 ปลูกผักคิดเป็นร้อยละ 91.03 นอกจากนั้น ยังได้นำพืชผัก ผลไม้ มาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม ตรงกับเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกหมู่บ้านต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตปลูกผักสวนครัว พิจารณาจากความต่อเนื่องคือพลัง การส่งเสริมการปลูกพืชผักที่มีอยู่แล้วอย่างต่อเนื่องและปลูกผักเพิ่มเติม/ทำเป็นบ้าน สานเป็นกลุ่ม  คือ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม ปลูกพืชผักประจำครัวเรือน ชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือการสร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อมและสร้างชุมชนสีเขียว ร้อยละ 90 ของครัวเรือนในหมู่บ้านทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน จากวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จากพืชผักอาหารรักสุขภาพ อาหารรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นบ้าน ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง เกิดชุมชนเกื้อกูลสามารถดูแลช่วยเหลือและแบ่งปัน จัดตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์ อย่างน้อย 1 แห่ง มีการจัดการองค์ความรู้อย่างน้อย 2 เรื่อง

………………………………………

แหล่งข่าวอ้างอิง :

1.จังหวัดสุพรรณบุรีคัดเลือกหมู่บ้านต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างวัฒนธรรมปลูกผักประจำครัวเรือน

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG201117132037058