นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ตั้งแต่การติดตามสภาวะอากาศและแนวโน้มการเกิดอุทกภัย โดยกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ให้ประชาชนทราบ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการแจ้งเตือนข้อมูลสภาพอากาศและคาดการณ์ภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยมีโทรสารถึงผู้ว่าราชการจังหวัด รวม 2 ฉบับ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ประสานหน่วยปฏิบัติในจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เตรียมความพร้อมรับมือและแจ้งเตือนประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดสถานการณ์ภัย ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าปฏิบัติการในพื้นที่เสี่ยงภัยทันที รวมถึงสร้างการรับรู้แก่ประชาชนผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะการติดตามข่าวสารและประกาศเตือนภัยจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย
สำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์ภัย จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก รัฐบาลห่วงใยประชาชน จึงได้สั่งการทุกหน่วยงานระดมความช่วยเหลือให้เข้าถึงประชาชนโดยเร็ว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางสั่งการให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2558 ผ่านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด และให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของจังหวัดอย่างเคร่งครัดโดยบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยทุกประเภทเข้าคลี่คลายสถานการณ์ภัยและดูแลผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้ 1) การดำเนินการในภาวะฉุกเฉิน ในระดับพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพได้อย่างปลอดภัย โดยการจัดอาหารและน้ำดื่มการแจกจ่ายถุงยังชีพ การอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวพร้อมดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในขณะเกิดภัย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ระดมทรัพยากรด้านสาธารณภัยของ ปภ. ทั้งเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เรือไฟเบอร์ รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถผลิตน้ำดื่ม รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถสุขาเคลื่อนที่ รถประกอบอาหาร รถไฟฟ้าส่องสว่าง ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย พื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่อื่น ๆ เข้าสนับสนุนจังหวัดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย 2) การดำเนินการฟื้นฟู ส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยจะดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2562 โดยขณะนี้จังหวัดที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยและประกาศเขตให้ความช่วยเหลือแล้ว คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จะสำรวจความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบและพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบฯ หากอำเภอมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเกินวงเงินของอำเภอจะเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ ต่อไป อาทิ ด้านการดำรงชีพ ด้านการประกอบอาชีพด้านการสาธารณสุข ด้านการเกษตร เป็นต้น
…………………………….