วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ณ วังเทเวศร์ ถนนกรุงเกษม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โครงการพระดำริในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ หม่อมหลวงสราลี กิติยากร ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพระดำริฯ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพระดำริฯ นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเอม่อน เมอร์ฟี่ ผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เฝ้ารับเสด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปทรงเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เรื่อง ปลดล็อกการปิดเมือง : บทเรียนจากการดำเนินงานด้านเอชไอวีในเอเชียและแปซิฟิก ด้วยการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างยั่งยืน
การประชุมได้จัดในรูปแบบ Virtual Meeting โดยกระจายสัญญาณไปยัง สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและเครือข่าย 27 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมีการอภิปรายหัวข้อ การใช้ประโยชน์จากแบบแผนของการตอบสนองต่อเอชไอวี ในการจัดการกับการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมที่กลุ่มประชากรหลัก และกลุ่มประชากรชายขอบต้องเผชิญในช่วงการระบาดของโควิด 19 จากวิทยากรประเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย APCOM Executive Director รวมทั้งประเทศไทย โดยผู้แทนประเทศไทย คือ นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิระประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค
ส่วนอีกหัวข้อคือ การอภิปรายเรื่องการปรับระบบบริการด้านเอชไอวีและอนามัยเจริญพันธุ์ในช่วงการระบาดของโควิด 19 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มประชากรหลัก โดยมีวิทยากรจากประเทศเวียดนาม ผู้แทน UNAIDS UNFPA และแพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ประเทศไทย (IHRI) ร่วมการอภิปรายดังกล่าวด้วย
จากการประชุมในครั้งนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเอชไอวีขององค์กรภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรที่นำโดยเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปรับใช้แนวทางจัดการปัญหา เอชไอวีในการรับมือกับโควิด 19 ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนชายขอบ และประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งนำเสนอนวัตกรรม ในการปรับระบบบริการสุขภาพแก่กลุ่มประชากรหลักและผู้ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19
……………………………..
ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
วันที่ 3 ธันวาคม 2563