สนข. ครบรอบ 18 ปี 9 ตุลาคม 2563 “มุ่งมั่นพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ…เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของคนไทย”

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม สักการะพระบรมสารีริกธาตุและศาลพระพรหม ณ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 18 ปี ในวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 โดยมีนางสุขสมรวย  วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และมอบทุนการศึกษา “คำรบลักขิ์  สุรัสวดี” ให้แก่บุตรข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สนข. ที่มีผลการเรียนดี จำนวน 2 ทุน ประกอบด้วย ทุนระดับประถมศึกษา จำนวน 5,000 บาท และทุนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 5,000 บาท รวมทั้งมอบทุน “พี่ให้น้อง” ในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 5,000 บาท ทั้งนี้ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านอำนวยการ) รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นางวิไลรัตน์  ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร นายวิจิตต์  นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ ให้การต้อนรับหน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนอดีตผู้บริหาร สนข. ที่มาร่วมแสดงความยินดี

สนข. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยรวมหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ด้านนโยบายและแผนการคมนาคมขนส่งและจราจรจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) ที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี บางส่วนจากสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และบางส่วนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี สังกัดกระทรวงคมนาคมไว้ด้วยกัน โดยมีภารกิจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางนโยบายและแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในด้านต่างๆ รวมทั้งระบบการจราจรของประเทศ สนข. จึงเกิดขึ้นจากความคาดหวังของประเทศ ในฐานะองค์กรที่เปรียบเสมือน “คลังสมอง” ให้กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งตลอดระยะเวลา 18 ปี ที่ผ่านมา สนข. ได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่และมีบทบาทในการเสนอแนะนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนงานต่างๆ  ด้านการขนส่งและจราจรทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งผลักดันขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการ/มาตรการต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพร้อมรองรับการขยายตัว และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ภายใต้ค่านิยมขององค์กร “OTP to TOP” : ทีมงานเป็นเลิศ (T : Teamwork), ร่วมเปิดใจกว้าง (O : Open Mind) และสานสร้างเครือข่าย (P : Partnership) เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรนำ ในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของ สนข.

ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา สนข. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลให้ดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย/แผนงาน/โครงการ/มาตรการที่สำคัญ ๆ ต่างๆ โดยมีผลการดำเนินงานของรัฐบาล รอบ 1 ปี ของกระทรวงคมนาคม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สนข. ดังนี้

1.การจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีกรอบแนวคิดในการแก้ไขปัญหา 2 ส่วน ดังนี้ 1) การเพิ่มผิวถนนในจุดที่จำเป็น ซึ่งจะมีการก่อสร้างอุโมงค์ ทางลอด ทางยกระดับ สะพานข้ามทางแยก การแก้ไขคอขวดและการแก้ไขถนนที่มีลักษณะเป็น Missing Link รวมถึงการบริหารจัดการใช้ถนนให้มีประสิทธิภาพ และ 2) การลดปริมาณรถบนถนน โดยการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การสร้างอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) การสร้าง Skywalk และมาตรการต่างๆ ที่จะส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งแผนงานโครงการและมาตรการต่าง ๆ ในแผนแม่บทฯ จะแบ่งเป็นแผนระยะเร่งด่วน (ปี 2563 – 2566) และแผนระยะกลาง/ยาว (ปี 2567 – 2572) ทั้งนี้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบ “แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรต่อไป

2.การปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งด่วนสำคัญที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการโดยหนึ่งในนโยบายสำคัญคือ การพิจารณานโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป  จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากการพิจารณาทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราความเร็ว 2 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดอัตราความเร็วตามลักษณะพื้นที่ และกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดอัตราความเร็วตามลักษณะถนนจึงควรปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว ให้มีความสอดคล้องกัน โดยการปรับจากเดิมที่กำหนดอัตราความเร็วในเขตเมือง เทศบาล/นอกเขตเมือง เทศบาล  เป็นกำหนดอัตราความเร็วตามลักษณะถนน (เช่น ถนน ๒ ช่องจราจร มี/ไม่มีเกาะกลาง ถนน ๔ ช่องจราจร มี/ไม่มีเกาะกลาง เป็นต้น) ทั้งนี้ ให้มีการจำกัดความเร็วในพื้นที่ถนนในเขตชุมชน ถนนหน้าโรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งกำหนดอัตราความเร็วต่ำสุดที่อนุญาตให้ใช้ในช่องจราจรขวาสุดด้วย ทั้งนี้ การพิจารณากำหนดถนนที่จะปรับเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องเป็นถนนที่เข้าองค์ประกอบด้านความปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ทั้งนี้จะสามารถประกาศบังคับใช้เป็นกฎกระทรวงฯ ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563

3.การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของภาคคมนาคม

สนข. ได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาคคมนาคม ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

3.1 มาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2563 – 2564) อาทิ การตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์ รถโดยสารสาธารณะและเรือโดยสารสาธารณะของหน่วยงาน ยานพาหนะและเครื่องจักรของผู้รับเหมาการตรวจจับควันดำรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และเรือโดยสารสาธารณะอย่างเข้มงวด การเปลี่ยนไปใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 สำหรับรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสารสาธารณะ และรถไฟ การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ การปล่อยฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นและเข้มงวดให้ผู้รับเหมาฉีดน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น

3.2 มาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2565 – 2569) อาทิ การส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การเปลี่ยนเครื่องยนต์รถโดยสารสาธารณะ/เรือโดยสารสาธารณะเป็นพลังงานสะอาด (NGV/EV) ปรับภาษีสรรพสามิตและภาษียานยนต์ไฟฟ้าเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด การจำกัดการใช้รถยนต์เก่า การบูรณาการสวัสดิการกับนโยบาย เช่น การจัดรถ Shuttle Bus ที่ใช้พลังงานสะอาด รับ – ส่ง เจ้าหน้าที่ระหว่างหน่วยงานราชการกับระบบขนส่งสาธารณะ MRT/BTS บัตรรถโดยสารสาธารณะรายเดือนราคาประหยัด และเร่งติดตั้ง EV Charging Station ในหน่วยงานราชการ เป็นต้น

3.3 มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2570 – 2575) อาทิ การบังคับใช้มาตรการทางภาษีและการจัดการความต้องการในการเดินทาง การเปลี่ยนท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือสำหรับท่องเที่ยว/ผู้โดยสาร/Port City การจำกัดการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในเมือง และการเปลี่ยนให้รถโดยสารสาธารณะเป็น EV ทั้งหมด เป็นต้น

4.การบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยมี Criteria ในการกำหนดแนวเส้นทาง ประกอบด้วย

1) ถนนแนวตรง ทำให้การสัญจรสะดวก ลดปัญหาอุบัติเหตุ

2) ไม่ผ่านเข้าชุมชน ไม่ซ้ำแนวถนนเดิม

3) พัฒนา ความเจริญเข้าสู่พื้นที่ใหม่

4) สร้างชุมชนเมืองใหม่

5) แยกการจราจรในเมือง ออกจากการเดินทางระหว่างเมือง

โดยในปี พ.ศ. 2564 จะมีการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP ทั่วประเทศ และปี พ.ศ. 2565 จะดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ของ Pilot Project และในปี พ.ศ. 2566 – 2568 จะมีการเวนคืนที่ดินและคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) เพื่อก่อสร้าง Pilot Project ที่คัดเลือกไว้ต่อไป

5. แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2563 (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยให้ตรวจสอบและดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ซึ่งโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2563 จำนวน  27 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวม 749,831.08 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 10,795.25 ล้านบาท ประกอบด้วย 27 โครงการ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มโครงการที่คณะกรรมการ นโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 14 โครงการ และ 2) กลุ่มโครงการที่เริ่มประกวดราคา/ประกาศคัดเลือกเอกชน/เริ่มก่อสร้างได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 13 โครงการ

6.การพัฒนาระบบตั๋วร่วม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบให้กับประชาชน ด้วยบัตรเพียงใบเดียว แนวทางการพัฒนาระบบตั๋วร่วม แบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย

1) ระยะเร่งด่วน พัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) เพื่อรองรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรโดยสารรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus บัตร MRT และบัตร rabbit

2) ระยะยาวจะดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ Account Based Ticketing (ABT) ซึ่งเป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชี โดยจะดำเนินการขยายการให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง ได้แก่ รถไฟฟ้าทุกสายที่เปิดให้บริการแล้ว (สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียวและแอร์พอร์ตเรลลิงก์) รถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ระบบทางพิเศษ เรือโดยสาร รถแท็กซี่ และรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ให้บริการ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการพัฒนาระบบ ประมาณ 18 – 24 เดือน ขณะนี้ สนข. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  รฟม. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และสัญญาไม่เปิดเผยความลับ เพื่อแสดงเจตนรมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาระบบ AFC ทั้งนี้ สนข. ได้นำเสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีกฎหมายเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และหน่วยงานจะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายด้านบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่ชัดเจน โครงสร้างการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แบ่งออก ๓ ระดับ ประกอบด้วย ๑) ระดับนโยบาย
– คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม 2) ระดับกำกับดูแล – สนข. และ 3) ระดับปฏิบัติการ – ผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (สนข. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

7.การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี โครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่เขตเมืองอุดรธานี ประกอบด้วย 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 100.55 กิโลเมตร มีแผนการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ๑) แผนระยะที่ 1 ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2569 พัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ 5 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดง สายสีส้ม สายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีชมพู โดยมีโครงการนำร่อง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดง และสายสีส้ม เปิดให้บริการในปี 2566 และ ๒) แผนระยะที่ 2 ดำเนินการช่วงปี พ.ศ. 2570 – 2582 พัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มอีก 1 เส้นทาง คือ สายสีเหลืองโดยรูปแบบของรถโดยสารที่มีความเหมาะสม คือ รถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (Electric Bus) ซึ่งใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน ทั้งนี้ สนข. ได้เสนอโครงการนำร่อง จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงและสายสีส้ม โดยสายสีแดงมีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณศูนย์การค้า UD Town ผ่านสถานีรถไฟ สถานีขนส่งแห่งที่ 1 และ 2 ผ่านตัวเมือง สิ้นสุดที่สนามบินอุดรธานี ระยะทาง 10.80 กิโลเมตร ส่วนสายสีส้ม วิ่งให้บริการเป็นวงกลมภายในตัวเมือง มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดอยู่บริเวณสถานีรถไฟอุดรธานี ระยะทาง 9.80 กิโลเมตร

โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด โครงการรถไฟทางคู่ เป็นต้น โดยจะเชื่อมโยงพื้นที่เมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 3 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างภูมิภาค และโครงสร้างพื้นฐาน 2) ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมโยงระบบหลักและแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างเมืองในเขตเมือง และ 3) ระบบขนส่งสาธารณะเสริม เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมย่อยในเขตเมืองหรือพื้นที่อยู่อาศัยเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายรอง

    • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เพื่อขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายเส้นทางการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และขนส่งผู้โดยสารได้ในปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดและคับคั่งบนถนนที่มีพื้นที่จำกัด และลดปริมาณการใช้รถยนต์ของประชาชน โดยคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 มีมติเห็นชอบให้ สนข. บรรจุแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย
      – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 และมอบหมายให้ รฟม. และ กทพ. ดำเนินการในงานส่วนของฐานราก โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป และให้เกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนให้น้อยที่สุดในพื้นที่ก่อสร้างที่ต้องใช้ร่วมกัน

 – แผนปฏิบัติการการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ระยะสั้น 3 ปี
(พ.ศ. 2561 – 2563)
เป็นการกำหนดกรอบทิศทางในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในระยะยาว 10 ปี (พ.ศ. 2561 – 2570) ที่มียุทธศาสตร์การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ (Technology and Innovation) มาใช้พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการด้านคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด/ความหนาแน่นของการจราจร เพื่อเพิ่มความปลอดภัย/ลดอุบัติเหตุ และลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 – โครงการศึกษาระบบนำทางการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือที่เรียกว่า แอปพลิเคชัน “ระบบนำทาง” เป็นแอปพลิเคชั่นที่ สนข. จัดทำขึ้น เพื่อให้บริการข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะทางถนน ทางราง และทางน้ำ ภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) มาประยุกต์ ใช้ใน การบูรณาการข้อมูลด้านการเดินทางและเผยแพร่ระบบข้อมูลการขนส่งสาธารณะที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ ให้มีความถูกต้องแม่นยำ ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สนับสนุนการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในลักษณะเชื่อมโยงกัน เป็นโครงข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

…………………………………….