ฝนหลวงฯ ช่วงชิงสภาพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงก่อนหมดฤดูฝน

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดย 12 หน่วยปฏิบัติการทั่วทุกภูมิภาค ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ผนึกกำลังอากาศยานและเจ้าหน้าที่ วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และพื้นที่
ลุ่มรับน้ำที่มีความต้องการในช่วงปลายฤดูฝน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีอิทธิพลจากพายุต่างๆ แต่ก็ยังมีปริมาณฝนสะสมไม่เพียงพอสำหรับใช้การเพื่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงน้ำใช้การอุปโภคบริโภคด้วย

วันที่ 7 ตุลาคม 2563 นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ประเทศไทยมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ยังคงมีพื้นที่การเกษตรหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำสำหรับการเจริญเติบโตของพืชก่อนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำใช้การน้ำต่ำกว่า 30% ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้การในฤดูแล้งถัดไป รวมถึงยังมีการขอรับบริการฝนหลวงจากพี่น้องเกษตรกรและประชาชนอยู่เป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาคด้วย ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดย 12 หน่วยปฏิบัติการ จึงเร่งวางแผนการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วงชิงสภาพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ร่วมกันปฏิบัติการฝนหลวง

นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2563 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 5 ตุลาคม 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด 12 หน่วย กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก ภาคกลาง จ.ลพบุรี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น อุดรธานี สุรินทร์ นครราชสีมา และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ระยอง และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และได้รับการสนับสนุนกำลังพลและอากาศยาน จากกองทัพบกและกองทัพอากาศ ร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ซึ่งได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 226 วัน จำนวน 5,763 เที่ยวบิน (8,536:11 ชั่วโมงบิน มีวันฝนตกคิดเป็นร้อยละ 99.12 ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 5,217.725 ตัน พลุสารดูดความชื้นโซเดียมคลอไรด์จำนวน 292 นัด พลุสารดูดความชื้นแคลเซียมคลอไรด์จำนวน 304 นัด พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2,440 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 67 จังหวัด เช่น ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร พิจิตร สุโขทัย ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี อุทัยธานี ชัยนาท เพชรบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ตราด และภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 197.81 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 231 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 197 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 4,289.181 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ หลังจากหมดฤดูกาลที่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้แล้ว ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันเช่นเดิม เพื่อเตรียมการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ประสบปัญหาภัยพิบัติทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม นายปนิธิ กล่าวทิ้งท้าย

………………………………………….