เรื่องของหัวใจ ยังไงก็สำคัญ
“โอ๊ย หัวใจอ่อนแอนัก แก้ไขกันซักนิด มาลองกันมะ มาฟิตหัวใจกันหน่อย ยิ่งเอ็กเซอร์ไซส์บ่อย ๆ ยิ่งเติมคำว่ามัดใจ” รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 9.2 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โรคหัวใจเป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง และเพื่อให้โลกตระหนักถึงภัยอันตรายจากโรคหัวใจจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 29 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันหัวใจโลก”
รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2559 พบทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 57 ล้านคน โดยโรคหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 9.2 ล้านคน สำหรับประเทศไทยในปี 2560 พบว่า คนไทยมีแนวโน้มการป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดถึง 326,946 คน และเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดถึง 20,746 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 57 คน และมีแนวโน้มการป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
สาเหตุส่วนใหญ่ของการป่วยด้วยโรคหัวใจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา พฤติกรรมเสี่ยงส่งผลมากที่สุดคือ “การสูบบุหรี่” เพราะสารพิษกว่า 7,000 ชนิดในบุหรี่ จะขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนน้อยไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ซึ่งสารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ในบุหรี่ จะเพิ่มความหนืดของเกล็ดเลือดและทำให้เกิดลิ่มเลือด เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลัน
นอกจากพฤติกรรมเสี่ยงการสูบบุหรี่แล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ มีภาวะความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักและผลไม้ และมีความเครียดสะสม
อาการเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าเราอาจเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ มาเช็กกัน
– เหนื่อยง่ายผิดปกติ
– พูดลำบาก ปากเบี้ยว
– มีการแขน ขา ชาใช้งานไม่ได้ อ่อนแรงเฉียบพลัน
– ปวดหน้าอกข้างซ้ายร้าวไปถึงแขนซ้าย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อหัวใจว่า “จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่มีอัตราที่ลดลง แต่นักสูบหน้าใหม่กลับเพิ่มขึ้น มีความคิดที่ว่าถ้าอยากเลิกบุหรี่ต้องหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน อันนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด เพราะในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินและสารพิษอื่น ๆ อีกมากมายหากร่างกายได้รับสารพิษเป็นเวลานานจะส่งผลร้ายโดยตรงทั้งตัวคนสูบและคนรอบข้าง”
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า บุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งการรับควันบุหรี่มือสองยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้ โดยการรับควันบุหรี่มือสองเพียง 30 นาที ก็เกิดอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือด และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตจากจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองปีละกว่า2,615 คน
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
– หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว และอาหารเค็มจัด
– กินอาหารที่มีไขมันน้อย
– ลดอาหารหวานจัด เค็มจัด
– ออกกำลังกายเป็นประจำ
– หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
– นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
– ควบคุมน้ำหนัก
– ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
โรคหัวใจและหลอดเลือดป้องกันได้ หากทุกคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ออกกำลังกายให้มากขึ้น สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs ลดการเสียชีวิต สร้างสุขภาวะที่ดีให้สังคมไทย
……………………………………………………………………
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, Infographic บุหรี่ภัยร้าย ทำลายหัวใจ, RAMA CHANEL ขับเคลื่อนสังคมไทยให้สุขภาพดี, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข