ป.ป.ส. จัดพิธีเปิดตัวสื่อ สร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้ป่วยยาเสพติด ที่มีอาการทางจิต “ป่วยจิต” ต้อง “เข้าใจ” ชุมชนปลอดภัย ร่วมใส่ใจดูแล

วันพุธที่ 23 กันยายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จัดพิธีเปิดตัวสื่อ สร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต “ป่วยจิต” ต้อง “เข้าใจ” ชุมชนปลอดภัย ร่วมใส่ใจดูแล ซึ่งในงานประกอบด้วย การเปิดตัวสื่อ VDO Motion สื่อ Infographic แสดงขั้นตอนการจัดการอย่างง่ายๆ รวมถึง E-Book ที่จะเป็นการเผยแพร่กระบวนการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตในขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่การป้องกัน เฝ้าระวังกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดและผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง การชักชวนให้เข้าสู่การบำบัดรักษา รวมถึงการช่วยเหลือภายหลังกลับสู่ชุมชน เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตให้กับครอบครัว ชุมชน และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดเสวนาเพื่อร่วมกันหาทางออกหรือทางแก้ไขปัญหาผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต ที่นับวันจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากกรมสุขภาพจิต และวิทยากรผู้มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตในชุมชน จากพื้นที่ตำบลชอนสมบูรณ์ และโรงพยาบาลอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง)

พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (รองเลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า มาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติด นอกจากการป้องกัน การปราบปราม และการบำบัดรักษาแล้ว อีกมิติหนึ่งที่สำนักงาน ป.ป.ส. ให้ความสำคัญ คือ การลดผลกระทบจากปัญหายาเสพติดเพื่อให้ประชาชนและสังคมเกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะการลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากยาเสพติด ในกลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตและก่อเหตุความรุนแรงกับบุคคลใกล้ชิด ครอบครัว หรือชุมชน จนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งในการแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ปฏิบัติงานภาครัฐในพื้นที่ ชุมชน และครอบครัว ซึ่งผู้ปฏิบัติงานรวมถึงชุมชนและครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในแนวทางการดำเนินงาน จนถึงการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดผลกระทบจากผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตได้

“การที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงชุมชนและบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถที่จะดูแลได้อย่างถูกวิธีนั้น จะต้องทราบถึงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดทำสื่อในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ VDO Motion , Infographic และ E-Book คู่มือการลดผลกระทบ จำนวน 1 เล่ม สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเปิดให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ในระบบออนไลน์ ทั้งยังสามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ได้ ขณะที่การจัดเสวนาโดยการอภิปรายร่วมในหัวข้อ ‘ทางออก…ของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต’ ก็จะเป็นเวทีที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการลดผลกระทบจากผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตได้”

รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงาน ป.ป.ส. คาดว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมถึงชุมชนและครอบครัว ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และนำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา นำไปสู่การลดผลกระทบของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตที่มีต่อชุมชนได้ โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติดได้ด้วยการร่วมกันดูแลและเฝ้าระวังผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตจากการใช้ยาเสพติด โดยสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วน กรมสุขภาพจิต โทร. 1323 และหากพบบุคคลที่มีพฤติการณ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แจ้งเบาะแสยาเสพติดได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชม.

………………………

“ผู้เสพ คือผู้ป่วย”สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด”