พม. แถลงข่าวเตรียมออก Social Bond 6,800 ล้านบาท ดึงนักลงทุน ระดมเงินสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

วันที่ 21 ก.ย. 63 นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานงานแถลงข่าวการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ของการเคหะแห่งชาติ และพิธีการลงนามในสัญญาการจัดจำหน่าย ระหว่างการเคหะแห่งชาติและธนาคารออมสิน โดยมี นายเอด วิบูลย์เจริญ ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ Mr. Hideaki Iwasaki Thailand Country Director, Asian Development Bank นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมงาน ณ ห้องประชุมกำแพงเพชร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายปรเมธี กล่าวว่า การออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นการออกพันธบัตรเพื่อสังคมครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจไทยตามนโยบายของ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ที่ต้องการให้มีการระดมทุนจากตลาดทุนเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมผ่านการลงทุนในพันธบัตรเพื่อสังคม โดยที่นักลงทุนยังได้ผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังที่สนับสนุนการออก ESG Bond ที่สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจออกพันธบัตรเพื่อสังคม พันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้มาพัฒนาประเทศตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้ให้การรับรองและคำมั่นในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

นายทวีพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการออกพันธบัตรเพื่อสังคมครั้งนี้ เป็นการออกพันธบัตรเพื่อ Refinance การลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยทั้งประเภท เช่า เช่าซื้อ และซื้อ ที่มีระดับราคาที่สามารถรับภาระได้ เป็นการขับเคลื่อนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์มีความยั่งยืนและประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ ซึ่งจะมีประชาชนประมาณ 13,569 ครัวเรือน หรือประมาณ 54,000 คน ได้รับประโยชน์จากการออกพันธบัตรเพื่อสังคมครั้งนี้ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ อายุ 5 ปี วงเงิน 1,000 ล้านบาท อายุ 10 ปี วงเงิน 2,800 ล้านบาท และอายุ 15 ปี วงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะออกพันธบัตรในวันที่ 23 กันยายน 2563

ทั้งนี้ การออกพันธบัตรเพื่อสังคมครั้งนี้ ทาง กคช. ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการแบบให้เปล่าจาก Asian Development Bank ทำให้การออกพันธบัตรเป็นไปตามมาตรฐานสากลของ International Capital Markets Association (ICMA) และ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และในปี 2564 กคช. ได้ตั้งเป้าหมายการออกพันธบัตรเพื่อสังคม หรือพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อนำเงินที่ได้มาลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

นายวิทัย กล่าวต่ออีกว่า ธนาคารออมสินมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ของการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 6,800 ล้านบาท นับเป็นครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจไทยที่มีการออกพันธบัตรประเภทนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้คัดเลือกธนาคารออมสินให้เป็นผู้จัดการจัดจำหน่าย (Syndication) พันธบัตรที่มีจำนวน 3 ชุด ได้แก่ อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.02 ต่อปี อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.64 ต่อปี อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.90 ต่อปี โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งนี้ มีการเปิดให้นักลงทุนแสดงความจำนงแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 และจะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 22 กันยายน 2563 นี้

นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2564 กคช. มีแผนการระดมทุนในรูปแบบการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) หรือพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainbility Bond) ซึ่งเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการบ้านเคหะสุขประชา ซึ่ง กคช. ได้รับนโยบายให้จัดสร้างที่อยู่อาศัยจำนวน 100,000 หน่วย ในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2564 – 2569 โดยจัดสร้างปีละ 20,000 หน่วย และส่งมอบในวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ เพื่อให้เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ และประชาชนที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะได้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ กคช. มีแผนการออกแบบและก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามเกณฑ์ ECO-VILLAGE ของ กคช. หรือมาตรฐานการประหยัดพลังงาน เช่น บ้านเบอร์ 5 ที่ร่วมดำเนินการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

……………………………………………………