วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายจารึก วัฒนาโกศัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 และนายประสานต์ พฤษาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยมีนายเริงชัย ลันขุนทด ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง คณะข้าราชการเจ้าหน้าที่ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมรายงานข้อมูลโครงการและผลการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งปี 2562/63 การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน การป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน การสูบน้ำ/ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมทั้งข้อมูลกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน โดยที่ประชุมได้มีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการพัฒนาเพิ่มประสิทธืภาพการบริหารจัดการน้ำต่อไปในอนาคต
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง สำนักงานชลประทานที่ 5 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการถ่ายโอนมาจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2545 ภายใต้ชื่อโครงการสูบน้ำห้วยโมง และในปี 2548 เปลี่ยนเป็น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง พื้นที่โครงการครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ และ อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย เริ่มจากสะพานน้ำโมง บ้านกวด ตำบลนาข่า อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางรวม 42 กิโลเมตร สิ้นสุดที่อาคารควบคุมระดับน้ำ (Regulator) แหล่งน้ำต้นทุนเป็นลักษณะ Channel Storage 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยโมง มีปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกัก 14.36 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยลาน มีปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกัก 2.64 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมความจุอ่างฯ ทั้ง 2 แห่ง 17.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบบชลประทานที่สำคัญของโครงการ ได้แก่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ในพื้นที่ชลประทาน 10 แห่ง สูบเพื่อการเกษตร 3 สถานี 14 เครื่อง สูบเพื่อป้องกันอุทกภัย 1 สถานี 3 เครื่อง สูบเพื่อป้องกันการเกษตรและอุทกภัย 6 สถานี 28 เครื่อง มีพื้นที่โครงการรวม 61,183 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 54,000 ไร่ ในช่วงฤดูฝน ประตูระบายน้ำห้วยโมงทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำโขงหลากเข้ามาในบริเวณลุ่มน้ำห้วยโมงถ้าไม่สามารถระบายน้ำออกตามธรรมชาติได้ก็จะใช้เครื่องสูบน้ำระบายออก ในช่วงฤดูแล้ง ใช้ประตูระบายน้ำห้วยโมงทำหน้าที่เพื่อขังน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยโมง และอ่างเก็บน้ำห้วยลาน เพื่อการเกษตรตลอดปี หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการชลประทาน เครื่องสูบน้ำจะทำหน้าที่สูบน้ำจากแม่น้ำโขงมากักเก็บไว้ในอ่างเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
ทั้งนี้กรมชลประทานได้มีร่างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยโมงที่สำคัญ ได้แก่
1. เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งโดยการเสริมฝายพับได้
2.พัฒนาแก้มลิงอ่างเก็บน้ำห้วยโมงเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 14.36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็นประมาณ 36.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยการเพิ่มระดับเก็บกักจากเดิม 165.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็น 167 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 16.38 ล้านลูกบาศก์เมตร และขุดลอกให้ลึกจากเดิมเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
3.พัฒนาแก้มลิงอ่างเก็บน้ำห้วยลานเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.63 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็นประมาณ 5.0 ล้านลูกบาศก์เมตร
4.ประตูระบายน้ำโมงแห่งที่ 2 สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที พร้อมระบบสูบน้ำ 2 ทาง
5.ระะบบผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก (รอผลการศึกษา)
6.คลองผันน้ำห้วยน้ำโมง เพื่อเร่งการระบายน้ำจากห้วยน้ำโมงก่อนเข้าตัวเมือง อำเภอท่าบ่อ ลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณห้วยคุก (รอผลการศึกษา)
7.ปรับปรุงลำน้ำห้วยน้ำโมง เริ่มจาก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ถึง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ความยาวรวมประมาณ 46 กิโลเมตร โดยการขุดลอกลำน้ำ เสริมคันกั้นน้ำริมสองฝั่ง ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำกลางคลอง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำ
ทั้งนี้เมื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้ 53 ตำบล ได้แก่ 1.จังหวัดเลย จำนวน 1 อำเภอ 2 ตำบล 2.จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 4 อำเภอ 13 ตำบล 3.จังหวัดอุดรธานี จำนวน 4 อำเภอ 20 ตำบล 4.จังหวัดหนองคาย จำนวน 3 อำเภอ 13 ตำบล
……………………………………………………