สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : ผักบุ้ง บำรุงสายตา รักษาผิวหนัง

ผักบุ้ง เป็นผักพื้นบ้านที่สามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อน และเป็นผักที่คนท้องถิ่น เช่น ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และกานา นิยมรับประทานเป็นอาหาร ผักบุ้งที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารมี 3 สายพันธุ์ คือ ผักบุ้งไทย ผักบุ้งนาและผักบุ้งจีน โดยผักบุ้งไทยมักปลูกในน้ำเพราะเจริญเติบโตได้ดีกว่าบนบก ส่วนผักบุ้งจีนจะปลูกในดินเพราะต้องการธาตุอาหารจากในดินมากกว่า[1]

ผักบุ้งที่กินกัน มีอยู่ 3 ชนิดคือ ผักบุ้งจีน ผักบุ้งหนองน้ำ (ผักบุ้งไทย) และผักบุ้งนา

ผักบุ้งจีน

ผักบุ้งจีน นิยมมาผัดผักบุ้งไฟแดง ผักบุ้งหนองน้ำ หรือผักบุ้งที่ปลูกอยู่ในน้ำ มีปล้องใหญ่นิยมใส่ในเย็นตาโฟ ส่วนผักบุ้งนาหรือผักบุ้งท้องนานิยมใช้ยอดกินกับส้มตำ

ผักบุ้งนา

ผักบุ้งนา ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ผักบุ้งขาวกับผักบุ้งแดง ที่นิยมใช้ทำยาคือ ผักบุ้งแดงการเลือกผักบุ้งมาใช้เป็นยา ควรเลือกผักบุ้งที่มีลำต้นสีแดงเข้ม ถ้าได้ก้านใบ(ก้านที่ติดกับใบ) มีสีแดงเรื่อๆ ด้วยยิ่งดี[2]

ผักบุ้งเป็นยาเย็น เมื่อมีอาการร้อนใน กระหายน้ำก็ต้มผักบุ้งกิน ในตำรายาไทยบอกว่าผักบุ้งเป็นยาถอนพิษ แก้พิษเบื่อเมา ถอนพิษยาทั้งปวง แก้ตาฝ้าฟาง เวลาคนถูกยาสั่ง พิษจากยาเสพติด พิษฝิ่น ยาพิษ ยาเบื่อ ลำโพง กลอย เมายา เมาฝิ่นมา ตำรับยาแก้พิษพื้นฐานคือ ผักบุ้งต้มกับน้ำตายทรายแดง [2]

ผักบุ้งเก่งทางรักษาโรคตามากที่สุดจริงๆ ผักบุ้งแก้ตามัว ตาฝ้าฟาง ประสบการณ์ของคนสมัยก่อนเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันอยู่แล้ว วิธีใช้ก็ง่ายๆ ตั้งแต่กินผักบุ้งเป็นอาหารบ่อยๆ ทำเป็นลูกกลอนเก็บไว้กิน ต้มกิน หรือต้มเอาไอรมก็ได้ และผักบุ้ง ยังใช้รักษาโรคผิวหนังได้ เป็น ผักสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง

หลักสำคัญในการกินผักบุ้งบำรุงสายตา คือ ต้องกินทุกวัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ต่อเนื่องติดต่อกันไป กินวันละ 2 ครั้งๆ ละ 10-20 ยอด (ยอดยาว 1 ฝ่ามือ) จนกระทั่งอาการหายไป จากนั้นถ้าต้องการกินเป็นอาหารประจำทุกวันเพื่อบำรุงและป้องกันโรคตา ก็ให้กินวันละ 1 ครั้งๆ ละ 10-20 ยอด ก็พอ

คนโบราณบอกว่า ถ้าผิวแห้งให้กินผักบุ้งเป็นอาหารเป็นประจำ อาการผิวแห้งก็จะดีขึ้น นอกจากปัญหาผิวหนังภายนอกแล้ว คนสมัยก่อนยังใช้ผักบุ้งรักษาแผลในปากและโรคกระเพาะอีกด้วย

ผักบุ้ง เป็นผักที่อุดมด้วยกากใย วิตามิน และเกลือแร่ จึงช่วยระบาย ทำให้ถ่ายคล่อง สำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันแนะนำให้กินผักบุ้งเป็นประจำ เนื่องจากมีการศึกษาหลายงานพบว่า ผักบุ้งช่วยลดน้ำตาลและความดัน นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงประสาททำให้สงบเย็น

ชื่อวิทยาศาสตร์: Ipomoea aquatica Forssk.

ชื่อวงศ์: CONVOLVULACEAE

ชื่ออื่น: ผักทอดยอด กำจร ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย ผักบุ้งหนอง โหนเดาะ

ลักษณะทั่วไป: ไม้เถาล้มลุก ลำต้นทอดคลานไปตามดิน ลำต้นกลวง รากออกตามข้อ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหอก ขอบขนานแคบ ดอกช่อ สีขาว สีชมพูหรือม่วงอ่อน ผลแห้ง รูปไข่

การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด แยกกอ

ตัวอย่างตำรับยา

– ยาแก้พิษสัตว์กัดต่อย: ให้เอาผักบุ้งสดตำอาจผสมเกลือนิดหน่อยพอกที่แผลถูกกัดต่อย เช่น ตะขาบ แมลงป่อง หรือแมลงต่างๆ

– ลมพิษ: ผักบุ้งเอาแต่ใบมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง แล้วนำมาทาตามที่มีผื่นขึ้น ทาแล้วจะหายคัน ปล่อยไว้สักครู่ผื่นที่ขึ้นก็หายไป

– ผื่นคัน: โขลกผักบุ้งให้ละเอียดพอกที่คันจะทำให้รู้สึกเย็นๆ แล้วอาการที่เป็นผื่นคันก็จะค่อยๆ หายไป

– โรคกระเพาะ: เอายอดผักบุ้งมา 1 กำมือ ต้มให้เปื่อยใส่น้ำผึ้ง 1หยด แล้วกิน

– ถอนพิษเมายาพิษผิดสำแดง ยาพิษ: นำรากมาตำแล้วคั้นผสมน้ำต้มสุกดื่ม หรือนำใบมาทานสดๆ หรือนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ แล้วนำมาดื่มเมื่อมีอาการ

……………………………………………………………

ข้อมูลอ้างอิง

[1] ผักบุ้ง. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%87

[2] หนังสือบันทึกของแผ่นดิน 9 สมุนไพรลดโลกร้อน