ผลสำเร็จของการดำเนินการโครงการนำร่องด้านสิ่งแวดล้อมในฟาร์มปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์เล็งขยายผลโดยจะจัดทำโครงการระบบบำบัดน้ำเสียชนิดสร้างก๊าซชีวภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกร และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้จัดทำโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการเมืองเกษตรสีเขียวด้านปศุสัตว์ระหว่างปี 2557 ถึง 2558 และโครงการส่งเสริมพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียด้านการปศุสัตว์ ปี 2559 ถึง 2560 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้เกษตรกรฟาร์มสุกร มีระบบบำบัดน้ำเสียชนิดสร้างก๊าซชีวภาพ (Biogas) และนำก๊าซชีวภาพมาเป็นพลังงานทดแทน ผลจากการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนข้างเคียงจากของเสียภายในฟาร์มสุกร และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ถึง 3 เท่า ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลโครงการระบบบำบัดน้ำเสียชนิดสร้างก๊าซชีวภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฟาร์มสุกร คาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 20 ฟาร์ม สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 นอกจากนี้ยังจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ตามมติที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งภาคพลังงาน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และขยะที่ไม่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับด้านเกษตรกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 ของภาคพลังงาน และในภาคเกษตรกรรมนี้มีสาเหตุเกิดจากภาคปศุสัตว์เพียงร้อยละ 18.74 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกบรรลุผลสำเร็จและตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐบาล เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศและประชาคมโลก กรมปศุสัตว์จึงจะจัดทำโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรมีระบบบำบัดน้ำเสียชนิดสร้างก๊าซชีวภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรโดยจะใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรฟาร์มสุกรประมาณปีละ 14 ล้านบาท ผลสำเร็จของโครงการจะเป็นอีกหนึ่งแนวร่วมที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ตามมติที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น และได้แสดงเจตจำนงต่อที่ประชุม COP21 ว่าประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี 2573
ทั้งนี้ ผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านการปศุสัตว์ สํานักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-653-4444 ต่อ 3163
………………………………………………………………………………………………
ข้อมูลและข่าว : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์